GMS IMT-GT

การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสวาระพิเศษ แผนงาน IMT-GT และ GMS และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

          เมื่อวันที่ 20-22 สิงหาคม 2567 นางสาวศศิธร พลัตถเดช ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ สศช. ได้เข้าร่วมการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสวาระพิเศษ แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักงานเลขาธิการอาเซียน ธนาคารพัฒนาเอเชีย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว

          ในการนี้ เจ้าหน้าที่อาวุโสของไทยได้ให้ข้อคิดเห็นในการประชุมต่าง ๆ ดังนี้

          1. การประชุมร่วมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสวาระพิเศษ แผนงาน IMT-GT และเขตพัฒนาเศรษฐกิจอาเซียนด้านตะวันออก บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ (BIMP-EAGA) เกี่ยวกับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสีน้ำเงิน ค.ศ. 2030 (Blue Economy 2030) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีน้ำเงินผ่านการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคที่มีความเชื่อมโยงกัน โดยมียุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ (1) การจัดการระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ (2) การลดมลภาวะทางทะเล ชายฝั่งและน่านน้ำภายในประเทศ และการลดขยะมูลฝอย และ (3) การบริหารจัดการทางทะเล ชายฝั่ง และน่านน้ำภายในประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ไทยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดทำยุทธศาสตร์บนพื้นฐานของการวิเคราะห์ข้อมูลและระเบียบวิธีวิจัยที่ครอบคลุม การคำนึงถึงความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และการพิจารณาความร่วมมือกับแผนงาน GMS เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงของการดำเนินงานในระดับอนุภูมิภาค รวมถึงเสนอให้พิจารณาจัดทำแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนภายใต้กรอบยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสีน้ำเงินของอาเซียนที่มีอยู่เดิมแทนการจัดทำยุทธศาสตร์ใหม่ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงินในระดับภูมิภาคที่มีเอกภาพ

          2. การประชุมคณะกรรมการกำกับโครงการฝึกอบรมภายใต้แผนงาน BIMP-EAGA IMT-GT และ GMS (B-I-G Programme) ซึ่งผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชียได้นำเสนอความก้าวหน้าของการดำเนินการฝึกอบรมบุคลากรทุกระดับภายใต้กรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคทั้ง 3 แผนงานตั้งแต่ ค.ศ. 2019 – 2024 ในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การจัดการโครงการ การท่องเที่ยวอัจฉริยะและการจัดการท่องเที่ยวสำหรับผู้ประกอบการ โดยเน้นการฝึกอบรมในหัวข้อที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศสมาชิก (Demand-driven Training) และนำเสนอหัวข้อการฝึกอบรมในประเด็นใหม่ อาทิ เศรษฐกิจสีน้ำเงิน เมืองอัจฉริยะซึ่งไทยได้แสดงความสนับสนุนประเด็นดังกล่าว พร้อมทั้งเสนอให้เพิ่มเติมหัวข้อการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นคุณภาพอากาศ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นความท้าทายข้ามพรมแดนในภูมิภาคอาเซียน

          3. การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส แผนงาน GMS ซึ่งที่ประชุมได้มีการหารือเบื้องต้นเกี่ยวกับเอกสารที่จะได้รับการรับรอง/เพื่อทราบในที่ประชุมสุดยอดผู้นำแผนงาน GMS ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้น ณ เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2567 โดยไทยได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการมีกลไกที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ภายใต้แผนงาน GMS เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพและลดความซ้ำซ้อนกับกลไกที่มีอยู่เดิม

         นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ สศช. ยังได้เข้าร่วม การประชุมหารือเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีผู้แทนจากสำนักงานประสานงานการท่องเที่ยวลุ่มน้ำโขง (MTCO) และผู้แทนด้านการท่องเที่ยวจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วม โดยที่ประชุมได้มีการนำเสนอเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวของอนุภูมิภาคและภูมิภาคอาเซียน โดยผู้แทนฝ่ายไทยจากกรมการท่องเที่ยวได้เน้นย้ำความสำคัญของการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เน้นการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community-based Tourism: CBT) การมีแพลตฟอร์มเพื่อสร้างเครือข่าย การฝึกทักษะด้านภาษาและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการท่องเที่ยว

เรื่อง/ภาพ: กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ