นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ สศช. เป็นผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจเอเปค (Economic Committee: EC) ครั้งที่ 1/2566 ร่วมกับอีก 20 เขตเศรษฐกิจเอเปค ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-24 กุมภาพันธ์ 2566 ในห้วงการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ 1 ณ เมืองปาล์มสปริงส์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. การประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 1/2566
ที่ประชุม EC ได้หารือถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสมาชิกเอเปคในการรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนกลไกของ EC อาทิ การยกระดับวาระการปฏิรูปโครงสร้างเอเปค (Enhanced APEC Agenda for Structural Reform: EAASR) และกลุ่มเพื่อนประธาน (Friend of the Chair :FotC) ตลอดจนหารือถึงทิศทางการดำเนินงานในปีนี้ผ่านการนำเสนอแผนการดำเนินงาน (work plan) ของ FotC
รองเลขาธิการ สศช. ในฐานะผู้แทนไทย ได้กล่าวสรุปสาระสำคัญของเป้าหมายกรุงเทพว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bangkok Goals on BCG Economy) ซึ่งได้รับการรับรองโดยผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2565 โดยได้เน้นย้ำ (1) สาระสำคัญของเป้าหมายกรุงเทพฯ เพื่อมุ่งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และแนวทางสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย (2) การนำเสนอการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ BCG และ (3) การสนับสนุนการนำเป้าหมายกรุงเทพฯ มาบูรณาการกับการดำเนินงานของคณะกรรมการเศรษฐกิจเอเปคในทุกมิติ โดยเป้าหมายกรุงเทพฯ ได้รับการสนับสนุนและการตอบรับเป็นอย่างดีจากที่ประชุมในการนำไปสู่การปฏิบัติ
นอกจากนี้ ฝ่ายไทยโดย สศช. เป็นผู้นำร่วมของคณะทำงานหลัก (Core Team Co-Leads) ร่วมกับสหรัฐอเมริกา และอีก 9 เขตเศรษฐกิจ เป็นคณะทำงานหลัก (Core Team) ในการจัดทำรายงานเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี 2566 (2023 APEC Economic Policy Report: 2023 AEPR) โดยฝ่ายไทยนำเสนอหัวข้อ Structural Reform and an Enabling Environment for Sustainable Business for Inclusive, Resilient, and Sustainable Business ในการนี้ ผู้แทน สศช. กล่าวรายงานสรุปการจัดทำ 2023 AEPR ต่อที่ประชุมฯ โดยรายงานดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จของไทยในการผลักดันข้อริเริ่มที่ได้รับการยอมรับและได้รับความชื่นชมจากที่ประชุม โดยไทยและคณะทำงานหลัก จะดำเนินงานร่วมกับสำนักเลขาธิการเอเปค (APEC Secretariat) เพื่อรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ต่อเพื่อเสนอให้มีการรับรองในเดือนพฤศจิกายน ซึ่ง 2023 AEPR ฉบับสมบูรณ์ จะถูกนำเสนอให้ผู้กำหนดนโยบายและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของทุกเขตเศรษฐกิจนำไปศึกษาและใช้ประโยชน์เพื่อออกแบบนโยบายที่สนับสนุนการดำเนินธุรกิจยั่งยืน และสอดคล้องกับเป้าหมายกรุงเทพฯ ต่อไป
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ในฐานะเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเปคในปีนี้ได้เสนอแนวคิด “Creating a Resilient and Sustainable Future for All” โดยมุ่งเน้นความเชื่อมโยง นวัตกรรม และ ความครอบคลุม อีกทั้งสนับสนุนการดำเนินการตามเป้าหมายกรุงเทพฯ โดยในปีนี้ สศช. จะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามกรอบการประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจเอเปคต่อไป
2. การประชุมและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง
เจ้าหน้าที่ สศช. ได้เข้าร่วมการประชุม Competitive Policy and Law Group (CPLG) ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 และได้กล่าวรายงานสรุป 2023 AEPR และความเชื่อมโยงกับ CPLG โดยเสนอว่า 2023 AEPR จะให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีและให้ข้อเสนอแนะในด้านการปฏิรูปโครงสร้าง โดยเฉพาะการปฏิรูปกฎระเบียบ การส่งเสริมตลาดที่มีการแข่งขัน และการขจัดอุปสรรคทางการค้า ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับ Business Enabling Environment (BEE) ของเขตเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ผู้แทน สศช. ยังได้ประชุมหารือร่วมกับสำนักเลขาธิการเอเปคและเขตเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการจัดทำและขับเคลื่อน 2023 AEPR และเข้าร่วมกิจกรรมการหารือเชิงนโยบาย อาทิ (1) กิจกรรม Capacity Building Workshop on Effective and Efficient Competition Litigation and Regulatory Advocacy (2) กิจกรรม APEC Policy Dialogue on Gender and Structural Reform: Achieving Economic Growth through Inclusive Policies (3) กิจกรรม Private Public Dialogue (PPD) on Essential Services: Achieving Better Policies towards Logistics-Related Services และ (4) กิจกรรม Group on Services/Economic Committee Public Private Dialogue on Structural Reform and Services ซึ่งได้มีการบูรณาการองค์ความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างสาขาความร่วมต่าง ๆ ของเอเปค (cross-fora cooperation)
ข่าว : กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
ภาพ : APEC Secretariat