ดร.วันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เข้าร่วมการประชุมในคณะกรรมการเศรษฐกิจเอเปค (Economic Committee: EC) ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการหลักของเอเปค ในช่วงที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ 3 และการประชุมที่เกี่ยวข้องซึ่งจัดขึ้น ณ โรงแรมแชงกรี-ลา จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีสาระการประชุมที่สำคัญ ดังนี้
1. การประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 2 (EC2) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-27 สิงหาคม 2565 ได้มีการหารือเกี่ยวกับการขับเคลื่อนประเด็นด้านการปฏิรูปโครงสร้างภายใต้การยกระดับวาระการปฏิรูปโครงสร้างเอเปค (Enhanced APEC Agenda on Structural Reform: EAASR) และหารือแนวทางในการจัดทำรายงานระยะครึ่งแผน (EAASR mid-term review) ตลอดจนหารือประเด็นที่ภูมิภาคให้ความสนใจ ทั้งเรื่องการฟื้นตัวที่ยั่งยืนและมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แนวปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจทัลในการส่งเสริมธรรมาภิบาลภาครัฐ แนวทางในการดำเนินงานเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ นโยบายการแข่งขันทางการค้า แนวปฏิบัติด้านบรรษัทภิบาลที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ในฐานะที่ไทยเป็นเจ้าภาพเอเปค ดร.วันฉัตรฯ ได้เสนอหัวข้อการจัดทำรายงานเศรษฐกิจเอเปคประจำปี ๒๕๖๖ (2023 APEC Economic Policy Report) เรื่อง Structural Reform and Enabling Environment for Inclusive, Resilient and Sustainable Business (การปฏิรูปโครงสร้างและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจที่ยั่งยืนพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและมีส่วนร่วม) โดยจะมุ่งเน้นการปฏิรูปโครงสร้างและการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการประกอบธุรกิจที่ยั่งยืน มีความรับผิดชอบต่อสังคม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคเอเปค โดยมีไทยและสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ร่วมดำเนินการหลัก (Core Team Co-Lead) ร่วมกับอีก ๘ เศรษฐกิจที่จะเป็น Core Team
2. การหารือเชิงนโยบาย เรื่อง ความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Policy Dialogue on Ease of Doing Business: EoDB) ภายใต้หัวข้อ “การดำเนินการเพื่อการเข้าถึงสินเชื่อที่ง่ายขึ้น” (Easier Access to Credit) ซึ่งเป็นการหารือในวาระการประชุมของ EC2 ที่จัดขึ้นในวันที่ 27 สิงหาคม 2565 โดยการหารือเชิงนโยบายในครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม (deliverables) ในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย โดย สศช. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) เป็นเจ้าภาพในการจัดกิจกรรม โดยในช่วงแรกได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับนโยบายและมาตรการที่สนับสนุนการได้รับสินเชื่อ อาทิ ระบบค้นหาข้อมูลหลักประกัน การรายงานข้อมูลสินเชื่อแบบองค์รวม (Comprehensive Credit Reporting) ข้อมูลเครดิตทางเลือก โครงการการช่วยเหลือการเข้าถึงสินเชื่อของ MSMEs ในช่วงที่ 2 เป็นการหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลสินเชื่อข้ามพรมแดน (Cross-border Credit Information Collaboration) ภายในภูมิภาคเอเปค
3. การประชุมว่าด้วยแนวปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ ครั้งที่ 15 (15th Good Regulatory Practice Conference: GRP15) จัดขึ้นในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ซึ่ง สศช. เป็นเจ้าภาพในการประชุมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ซึ่งการประชุม GRP ครั้งนี้ มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้มาตรการด้านกฎระเบียบและการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อสนับสนุนให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการจัดการผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการฟื้นตัวในระยะต่อไป โดยที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการปรับใช้ GRP ในการออกแบบกฎระเบียบหรือนโยบายเพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 อย่างทันท่วงที โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล นอกจากการนำ GRP มาใช้ในการกำหนดนโยบายเพื่อให้เกิดความคล่องตัว (Agile) แล้ว ยังควรให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศด้านกฎระเบียบ (International Regulatory Cooperation: IRC) ให้สอดรับกับบริบทการพัฒนาของโลกที่มีความผันผวน มีความเป็นพลวัตสูง และเชื่อมโยงถึงกันอย่างไร้พรมแดน
***********************
กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ