เมื่อวันที่ 4-5 มีนาคม 2567 สาธารณรัฐเปรู ในฐานะเจ้าภาพประชุมเอเปค ปี 2567 ได้จัดการประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจเอเปค (Economic Committee: EC) ครั้งที่ 1/2567 ซึ่งอยู่ในห้วงการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ 1 (Third Senior Officials’ Meeting: SOM1) ระหว่างวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 8 มีนาคม 2567 ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู โดยมีนายธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สศช. เป็นผู้แทนฝ่ายไทยเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจฯ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง โดยมีสรุปสาระสำคัญการประชุม ดังนี้
1. การประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 1/2567
ที่ประชุม EC ได้หารือถึงแนวโน้มทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ซึ่งยังต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ อาทิ เสถียรภาพทางการเงินจากหนี้ที่สูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเติบโตของผลผลิตที่ชะลอตัว และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งร่วมกันหาแนวทางเพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าวผ่านการดำเนินงานของกลไกต่าง ๆ ภายใต้ EC อาทิ การขับเคลื่อนการดำเนินงานของกลุ่มเพื่อนประธาน (Friends of the Chai: FotC) การยกระดับวาระการปฏิรูปโครงสร้างเอเปค (Enhanced APEC Agenda for Structural Reform: EAASR) รวมทั้งหารือถึงประเด็นที่เจ้าภาพเอเปค 2567 ให้ความสำคัญ ได้แก่ การเปลี่ยนจากเศรษฐกิจนอกระบบสู่เศรษฐกิจในระบบ โดย สศช. ในฐานะผู้แทน EC ฝ่ายไทยได้ร่วมหารือ และแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจนอกระบบของไทย และนำเสนอแนวทางการเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจนอกระบบสู่เศรษฐกิจในระบบของไทย 3 ประการ ได้แก่ (1) การลดต้นทุนแฝงจากเศรษฐกิจนอกระบบ ด้วยการเปลี่ยนผ่านไปสู่เขตเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล โดยใช้ข้อมูลเป็นฐานในการจัดทำนโยบายเพื่อให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ (2) การส่งเสริมให้วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) เข้าสู่ระบบ โดยการสร้างแรงจูงใจและให้สิทธิพิเศษที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขันให้กับ MSMEs และ (3) การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบและการยกระดับรายได้ประชาชน ผ่านการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ การพิจารณาปรับโครงสร้างระบบสินเชื่อและการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อและสามารถบริหารจัดการหนี้ได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ที่ประชุม EC ยังได้หารือเกี่ยวกับรายงานเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Policy Report: AEPR) ในปี 2567 ซึ่งจะจัดทำขึ้นในหัวข้อ การปฏิรูปโครงสร้างและการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Structural Reform and Financial Inclusion) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการปฏิรูปโครงสร้างที่สนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงินในฐานะองค์ประกอบสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ยืดหยุ่น และครอบคลุม ทั้งนี้ สศช. ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบหลักของ EC ฝ่ายไทยจะได้ประสานการดำเนินการเพื่อผลักดันให้รายงานดังกล่าวมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่จะเป็นประโยชน์และสอดคล้องกับการดำเนินงานของไทย
2. กิจกรรมหารืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในห้วงการประชุม EC ครั้งที่ 1/2567
เจ้าหน้าที่ สศช. ได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมระหว่างคณะกรรมการเศรษฐกิจเอเปค (EC) และกลุ่มงานด้านบริการ (Group on Service: GOS) โดยทั้งสองกลุ่มได้หารือร่วมกันในประเด็นต่าง ๆ อาทิ บทบาทของการปฏิรูปโครงสร้างในการขับเคลื่อนความเติบโตทางเศรษฐกิจและการรวมกลุ่มในระดับภูมิภาค นวัตกรรมในภาคบริการ ความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และการเข้าถึงข้อมูล การเปลี่ยนแปลงนโยบายในภาคบริการและความเชื่อมโยงกับการปฏิรูปโครงสร้าง ตลอดจนความท้าทายในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของนโยบาย นอกจากนี้ ยังได้มีจำลองสถานการณ์การปรับโครงสร้างภาคบริการสาขาการขนส่งทางทะเล โดยสมาชิกได้แลกเปลี่ยนความเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ อาทิ การใช้หลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย การแสวงหาจุดร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการปฏิรูป รวมถึงการลดอุปสรรคทางกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ สศช. ยังได้เข้าร่วมการเสวนาเชิงนโยบาย ในหัวข้อ Implementation of the APEC Collaborative Framework for ODR โดยได้หารือในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามแผนงานความร่วมมือเอเปคด้านการระงับข้อพิพาทออนไลน์ อาทิ การเข้าร่วม (opt in) ในแผนงานความร่วมมือ และการใช้กระบวนการ ODR สำหรับข้อพิพาทแบบ Business to Customer (B2C) ทั้งนี้ สศช. อยู่ระหว่างพิจารณารวบรวมข้อมูลที่จำเป็น และหารือกับหน่วยงานภายในประเทศที่เกี่ยวข้องต่อท่าทีและแนวทางการเข้าร่วมในแผนงานดังกล่าว โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับเป็นสำคัญ
กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ