เมื่อวันที่ 21 – 22 สิงหาคม 2567 สาธารณรัฐเปรู ในฐานะเจ้าภาพประชุมเอเปค ปี 2567 ได้จัดการประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจเอเปค (Economic Committee: EC) ครั้งที่ 2/2567 ซึ่งอยู่ในห้วงการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ 3 (Third Senior Officials’ Meeting: SOM3) ระหว่างวันที่ 12 – 25 สิงหาคม 2567 ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู โดยมีนายธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สศช. เป็นผู้แทนฝ่ายไทยเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจฯ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง โดยมีสรุปสาระสำคัญการประชุม ดังนี้
1. การประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 1/2567
ที่ประชุม EC ได้หารือเกี่ยวกับรายงานเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Policy Report: AEPR 2024) ในหัวข้อ การปฏิรูปโครงสร้างและการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Structural Reform and Financial Inclusion) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการปฏิรูปโครงสร้างที่สนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงินในฐานะองค์ประกอบสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ยืดหยุ่น และครอบคลุม โดย Policy Support Unit (PSU) ได้นำเสนอสาระสำคัญของร่างรายงานดังกล่าว สามารถสรุปการศึกษาได้ ดังนี้ (1) การเข้าถึงบริการทางการเงินมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ (2) การเข้าถึงบริการทางการเงินช่วยเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจให้กับกลุ่มที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้ใช้ (untapped economic potential) และ (3) การเข้าถึงบริการทางการเงินในภูมิภาคเอเปค โดยการศึกษาพบว่า สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคได้ดำเนินการเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน ผ่านการออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะกลุ่ม โดยได้ให้บริการผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผ่านทางสถาบันการเงินของรัฐ หรือโครงการริเริ่มที่นำโดยรัฐบาล นอกจากนี้ PSU ยังได้นำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยสามารถสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ (1) การขยายการเข้าถึงบริการทางการเงิน (2) การสร้างความครอบคลุมในการเข้าถึงบริการทางการเงิน และ (3) การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากบริการทางการเงิน โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างองค์ความรู้ทางการเงิน และการสนับสนุนโอกาสในการเป็นผู้ประกอบการ
ที่ประชุม EC ยังได้หารือเกี่ยวกับหัวข้อของ AEPR 2025 ซึ่งจะจัดทำขึ้นในหัวข้อ การปฏิรูปโครงสร้างกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจในระบบและเศรษฐกิจโลก (Structural Reform and Transition to the Formal and Global Economy) โดยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการปฏิรูปโครงสร้างต่อการเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจในระบบและเศรษฐกิจโลก เพื่อสนับสนุนการเติบโตที่แข็งแกร่ง สมดุล ปลอดภัย ยั่งยืน และครอบคลุม ทั้งนี้ สศช. ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบหลักของ EC ฝ่ายไทยจะได้ประสานการดำเนินการเพื่อผลักดันให้รายงานดังกล่าวมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่จะเป็นประโยชน์และสอดคล้องกับการดำเนินงานของไทย
นอกจากนี้ ที่ประชุม EC ได้หารือกระบวนการจัดทำวาระการปฏิรูปโครงสร้างฉบับใหม่ ซึ่งจะประกอบด้วย 4 เสาหลัก โดยเสนอให้ใช้ชื่อเอกสารดังกล่าวว่า Strengthened and Enhanced APEC Agenda for Structural Reform (SEAASR) เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานด้านการปฏิรูปโครงสร้างในห้วงปี 2569 – 2573 โดยประกอบด้วย 4 เสาหลักที่ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ (1) ตลาดที่เปิดกว้าง โปร่งใส เชื่อมโยงกัน และมีการแข่งขัน (2) สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ ซึ่งรวมไปถึงการให้ความสำคัญกับภาคบริการ (3) นวัตกรรมและการทำให้เป็นดิจิทัล และ (4) ความครอบคลุม โดยในลำดับต่อไป คณะทำงานหลักจะร่วมกับ PSU ในการศึกษาและยกร่างเอกสารดังกล่าวเพื่อขอการรับรองจากที่ประชุม EC ก่อนจะเสนอต่อที่เจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค และขอการรับรองขั้นสุดท้ายในการประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปคด้านการปฏิรูปโครงสร้างในห้วงการประชุมเอเปค 2568 ต่อไป
2. กิจกรรมหารืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในห้วงการประชุม EC ครั้งที่ 2/2567
เจ้าหน้าที่ สศช. ได้เข้าร่วมการประชุมว่าด้วยแนวปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ ครั้งที่ 17 (Good Regulatory Practice: GRP) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบที่ส่งเสริมการดำเนินนโยบายเพื่อเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจนอกระบบไปสู่เศรษฐกิจในระบบ โดยเฉพาะบทบาทของการกำกับดูแลที่มีคุณภาพเพื่อส่งเสริมการแข่งขันและผลิตภาพ การใช้ GRPเพื่อพัฒนาการกำกับดูแลด้านกฎระเบียบ ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ปฏิบัติงานในการดำเนินการตามแนวทาง GRP เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายด้านกฎระเบียบใหม่ ๆ ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าวผู้แทนฝ่ายไทยจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ได้รับเชิญให้ร่วมนำเสนอและแบ่งปันประสบการณ์ที่ดีร่วมกับเขตเศรษฐกิจสมาชิกใน 2 หัวข้อ ได้แก่ (1) เครื่องมือทางเทคโนโลยีและทรัพยากรด้านนวัตกรรมที่ช่วยสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศด้านกฎหมาย โดยฝ่ายไทยได้นำเสนอประสบการณ์การพัฒนาระบบกลางทางกฎหมาย (law.go.th) เพื่อเป็นช่องทางในการรับฟังความเห็นต่อกฎหมาย เพื่อนำความเห็นดังกล่าวไปปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายให้ตอบโจทย์และสามารถแก้ไขปัญหาในสังคมได้อย่างแท้จริง และ (2) การพัฒนากฎหมายและหลักการมีกฎหมายที่ดีเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจในระบบและเศรษฐกิจโลก: บทเรียนจากผลกระทบของกฎหมายต่อเศรษฐกิจในระบบและความสามารถด้านการแข่งขัน โดยได้นำเสนอประสบการณ์ของประเทศไทยในประเด็นคุณภาพของกฎหมายและอุปสรรคในการเข้าสู่ระบบของภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในประเทศ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพกฎหมายผ่านกลไก GRPs เพื่อลดอุปสรรคดังกล่าว ผ่านกรณีศึกษาใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ สศช. ยังได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ APEC Gender and Structural Reform to Advance Just Energy Transitions เพื่อสร้างเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับโอกาสในการประยุกต์ใช้การปฏิรูปโครงสร้างเพื่อยกระดับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน แลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงนโยบายและโครงการที่สนับสนุนความครอบคลุมและความเท่าเทียมทางเพศ ตลอดจนการส่งเสริมบทบาทและการมีส่วนร่วมของสตรีและกลุ่มผู้มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้ใช้ในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน
กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ