วันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีประจำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS Minister) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนเจ้าหน้าที่ไทยเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี แผนงาน GMS ครั้งที่ 24 (24th GMS Ministerial Conference) ผ่านระบบการประชุมทางไกล ภายใต้หัวข้อหลักคือ “มุ่งปูทางเพื่อการบูรณาการที่เพิ่มขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อความยั่งยืน และความเจริญมั่งคั่งในอนุภูมิภาค GMS” ซึ่งกระทรวงการคลัง สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) โดยมี นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงานสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานการประชุมเพื่อการพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจ แผนงาน GMS ครั้งที่ 11 (11th GMS Economic Corridor Forum) ได้รายงานความสำเร็จของการประชุมดังกล่าว ในโอกาสนี้ด้วย
ในการประชุมครั้งนี้ มีรัฐมนตรีประจำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS Minister) เข้าร่วม ได้แก่นายซก เจนดา โซเพียรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการสภาเพื่อการพัฒนาแห่งกัมพูชา ราชอาณาจักรกัมพูชาดร.กิแก้ว จันทะบุลีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแผนการและการลงทุน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวนายบารัต ซิงห์รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมานายถาวร เสนเนียมรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมนายทราน ก๊วก ฟึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวางแผนและการลงทุน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยมีน.ส. โซว เจียหยี่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประธานการประชุม ร่วมกับ
ในโอกาสนี้ รมช. ถาวรฯ เน้นย้ำเจตนารมณ์ของไทยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไทยได้ลงนามในสัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร โครงการรถไฟความเร็วสูงภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและจีน วงเงิน 50,633 ล้านบาท เพื่อยกระดับให้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยตามแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (NSEC)
นอกจากนี้ เพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รมช. ถาวรฯ เร่งให้ภาครัฐเห็นความสำคัญในเรื่องการอำนวยความสะดวกกิจกรรมทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดน ภายใต้ความตกลงการอำนวยความสะดวกคมนาคมขนส่งข้ามพรมแดนใน GMS หรือความตกลง CBTA โดยเฉพาะเร่งปรับปรุงกฎระเบียบการดำเนินงานในด่านพรมแดน และโลจิสติกส์ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และมีความปลอดภัย เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ และเป็นการปูทางให้พวกเขาสู่การเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าโลกต่อไป
ในโอกาสเดียวกันนี้ รัฐมนตรี GMS ร่วมกันให้การรับรอง 1) ร่างแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีแผนงาน GMS ครั้งที่ 24 (Joint Ministerial Statement) 2) รายงานความก้าวหน้าและการปรับปรุงครั้งที่ 3 กรอบการลงทุนของภูมิภาค ปี 2565 (RIF 2022: 3rd Progress Report and Update) และ 3) แนวทางการจัดตั้งคณะทำงานด้านการเคลื่อนย้ายแรงงาน (Labor Migration) ใน GMS ซึ่ง รมช.ถาวรฯ เห็นว่าจำเป็นต้องร่วมกันหาแนววิธีปฏิบัติการจัดจ้างแรงงาน การเคลื่อนย้ายแรงงาน และการส่งกลับแรงงานที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมกันเพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และลดปัญหาเชิงสังคมเนื่องมาจากการเคลื่อนย้ายแรงงานผิดกฎหมาย ทั้งนี้ ขอให้ สศช. เป็นตัวกลางการจัดตั้งคณะทำงานฝ่ายไทย โดยมีผู้แทนระดับอธิบดีหรือรองอธิบดีจากกระทรวงแรงงานเป็นหัวหน้าคณะทำงาน ต่อไป
นอกจากนี้ รัฐมนตรี GMS ร่วมกันให้ความเห็นชอบในหลักการร่างเอกสารจำนวน 2 ฉบับเพื่อนำเสนอต่อการประชุมสุดยอดผู้นำ แผนงาน GMS ครั้งที่ 7 (7th GMS Summit) ในเดือน มีนาคม 2564 ได้แก่ 1) ร่างกรอบยุทธศาสตร์ใหม่ของแผนงาน GMS ในระยะปี 2575 (New GMS Strategic Framework 2030) ซึ่งได้รวบรวมแผนการดำเนินการและมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และมีความสอดประสานกับประเด็นภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของประเทศไทยด้วยแล้ว และ 2) ร่างเอกสารแผนการฟื้นฟูและตอบสนองต่อผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ. 2564-2565 โดยสนับสนุนให้คณะทำงานด้านสุขภาพ (Health Cooperation Sector) ภายใต้แผนงาน GMS เป็นตัวหลักในการทำหน้าที่ดูแล และติดตามการได้มาของวัคซีน ทั้งนี้ เพื่อการกระจายวัคซีนใน GMS อย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ
ในการนี้ นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน ในฐานะหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่อาวุโสของไทย และประธานการประชุมเวทีหารือเพื่อการพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจ แผนงาน GMS ครั้งที่ 11 (11th GMS Economic Corridor Forum) ได้กล่าวรายงานถึงความสำเร็จของการประชุมฯ ซึ่งเน้นบูรณาการปัจจัยขับเคลื่อนการพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจ ได้แก่ 1) การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อก่อให้เกิดการจ้างงาน เสริมสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค และเครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศ 2) นำเสนอประโยชน์และโอกาสทางเศรษฐกิจของ GMS ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี ASEAN-China และ RCEP และ 3) โอกาสทางเศรษฐกิจจากการอำนวยความสะดวกกิจกรรมทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดนภายใต้ความตกลง CBTA เพื่อตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
การประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 24 ของแผนงาน GMS ถือเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนจากต่างประเทศในการเข้ามาลงทุนในสาขาที่มีศักยภาพเชื่อมต่อห่วงโซ่การผลิตกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งการค้า การลงทุน การบริการและการท่องเที่ยว ตามพื้นที่แนวระเบียงเศรษฐกิจ ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเป็นการนำเสนอบทบาทความเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ การพัฒนาและการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาในภูมิภาคของไทยที่พร้อมให้ความช่วยเหลื่อสนับสนุนทางด้านการเงินและทางวิชาการ ตลอดจนระบุประเด็นปัญหาและข้อจำกัดทางด้านสังคมและร่วมกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ จากการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการผลิตอุตสาหกรรมข้ามพรมแดน
การประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 25 ของแผนงาน GMS กำหนดจัดขึ้นในปี 2565 โดยสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม
ผู้สนใจแผนงานการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS)
สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.nesdc.go.th และ www.greatermekong.org
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)