เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน 2567 นางสาวศศิธร พลัตถเดช ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สศช. ผู้แทนรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีประจำแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) ของไทย เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 30 แผนงาน IMT-GT ณ รัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย โดยมีนายโมฮัมหมัด ราฟิซี บิน รัมลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ ประเทศมาเลเซีย เป็นประธานการประชุม และนายอีดี้ พริโอ ปามบูดี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงประสานงานด้านเศรษฐกิจ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เข้าร่วม พร้อมด้วย ผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ผู้แทนสำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEC) ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง (นายทรงกลด สว่างวงศ์) รองผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ เจ้าหน้าที่อาวุโส ผู้แทนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ในการนี้ รัฐมนตรีและผู้แทนรัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT ทั้ง 3 ประเทศ ได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานของแผนงาน IMT-GT โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. การพัฒนาในด้านต่าง ๆ ของอนุภูมิภาค IMT-GT เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อาทิ ด้านการค้า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และการลงทุนในประเทศ รวมถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัว (GDP Per Capita)
2. ความก้าวหน้าการดำเนินงานใน 8 สาขาความร่วมมือ โดยแต่ละคณะทำงานฯ ได้รายงาน
การดำเนินที่สำคัญภายใต้แผนการดำเนินงานระยะ 5 ปี (Implementation Blueprint 2022-2026) อาทิ
– สาขาการท่องเที่ยว มีแคมเปญปีแห่งการท่องเที่ยว IMT-GT พ.ศ. 2566-2568 การส่งเสริม
การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับมุสลิม และการท่องเที่ยวแบบจุดหมายปลายทางเดียวกัน (single destination) รวมทั้งการหารือเพื่อพัฒนาความร่วมมือข้ามสาขาระหว่างคณะทำงานด้านการท่องเที่ยวและคมนาคม
– สาขาความเชื่อมโยงด้านคมนาคมขนส่ง ซึ่งในส่วนของประเทศไทยมีโครงการที่สำคัญ อาทิ การก่อสร้างถนนเชื่อมโยงระหว่างด่านศุลกากรสะเดา-บูกิตกะยูฮิตัม การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก
แห่งที่ 2 และการก่อสร้างรถไฟรางคู่ หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนงาน
– สาขาการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร มีการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการ Super Fruits ของมาเลเซีย โครงการบ่มเพาะเกษตรกรรุ่นเยาว์ และการสนับสนุนความร่วมมือด้านยางพาราในอนุภูมิภาค โดยอยู่ระหว่างการยกร่างบันทึกความเข้าใจด้านปาล์มน้ำมันของอนุภูมิภาค IMT-GT เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าสินค้าปาล์มน้ำมันและการแลกเปลี่ยนการปฏิบัติที่ดีระหว่างประเทศสมาชิก IMT-GT ในฐานะผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลก
– สาขาการค้าและการลงทุน มีการยกร่างกรอบความร่วมมือด้านศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และการกักกัน ระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย (FoC in CIQ) เพื่ออำนวยความสะดวก
ในการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนของสินค้าและบุคคลในอนุภูมิภาค IMT-GT โดยมีกำหนดลงนามร่วมกัน
ในการประชุมระดับผู้นำ แผนงาน IMT-GT ในปี 2568 ณ ประเทศมาเลเซีย
– สาขาผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล มีการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญ การส่งเสริมผู้ประกอบการสินค้า
ฮาลาลเพื่อการส่งออก การสนับสนุนการรับรองมาตรฐานของสินค้าและบริการฮาลาล และการเสริมสร้างความตระหนักรู้ของผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลของ IMT-GT เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
– สาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีการดำเนินโครงการร่วมกันในการส่งเสริมทักษะทางดิจิทัล การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนามาตรฐานของแรงงาน โดยมีโครงการพัฒนาสมรรถนะและมาตรฐานฝีมือแรงงาน รวมถึงการฝึกอบรมด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา เป็นโครงการสำคัญ
– สาขาสิ่งแวดล้อม มีการริเริ่มการเสริมสร้างความสามารถด้านการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินจากการรั่วไหลของน้ำมันในทะเล โดยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับอินเดียในฐานะประเทศพันธมิตร เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการรั่วไหลของน้ำมันในอนุภูมิภาค IMT-GT อย่างเป็นรูปธรรม
– สาขาการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการร่วมระหว่าง 3 ประเทศ
ซึ่งประเทศไทยได้มีการดำเนินกิจกรรม อาทิ โครงการกระตุ้นระบบนิเวศ 5G ให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G เชิงพาณิชย์ และโครงการจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนและการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G
3. ความก้าวหน้าของการประชุมระดับมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด (Chief Ministers and Governors Forum: CMGF) ซึ่งได้ผลักดันกรอบการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน (Sustainable Development Framework: SUDF) ของแผนงาน IMT-GT สำเร็จลุล่วง 5 ด้าน ได้แก่ ยานยนต์อิเล็กทรอนิกส์ อาคารสีเขียว ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ บัญชีรายการปริมาณก๊าซเรือนกระจก และแนวทางการจัดการขยะมูลฝอย อีกทั้งยังมีการเสนอรางวัลเมืองสีเขียว สำหรับเมืองที่แสดงความมุ่งมั่นและมีนวัตกรรมในการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เสนอให้ประเทศสมาชิกดำเนินการจัดตั้งสำนักเลขาธิการฯ CMGF ในประเทศ รวมถึง
การยกร่างแผนปฏิบัติการภายในประเทศเพื่อดำเนินการในระดับรัฐบาลท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม
4. ความร่วมมือของสภาธุรกิจ IMT-GT (JBC) และเครือข่ายมหาวิทยาลัย IMT-GT (UNINET) โดยสนับสนุนให้ภาคเอกชนและภาควิชาการเข้ามามีส่วนร่วมเพิ่มขึ้นในคณะทำงานสาขาต่าง ๆ รวมถึงเสนอให้มีการจัดตั้งสำนักงานเลขานุการสภาธุรกิจ IMT-GT ในประเทศไทย และการเสนอโครงการ IMT-GT Connect เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และฝึกอบรมผู้แทนภาครัฐและเอกชน เกี่ยวกับระเบียงเศรษฐกิจ IMT-GT 6 แห่ง
5. ความร่วมมือกับหุ้นส่วนการพัฒนาอื่น ๆ อาทิ การพัฒนาเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASCN) ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการอาเซียน การแลกเปลี่ยนความรู้และฝึกอบรมภายใต้โครงการ B-I-G ของธนาคารพัฒนาเอเชีย ความริเริ่มความร่วมมือกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) และการพัฒนาความร่วมมือกับอินเดียในระยะแรก ซึ่งมีกำหนดจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสระหว่าง IMT-GT และอินเดีย ภายในปี 2567 นี้
6. การดำเนินการในระยะต่อไป ประกอบด้วย (1) การเร่งรัดติดตามผลการทบทวนระยะกลาง
(Mid-Term Review) ของแผนการดำเนินงานระยะ 5 ปี (2) การเร่งรัดการดำเนินงานภายใต้กรอบ SUDF
(3) การหารือแนวทางการพัฒนาความร่วมมือของอนุภูมิภาค IMT-GT เกี่ยวกับเศรษฐกิจสีน้ำเงิน ร่วมกับหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง (4) การยกระดับความร่วมมือข้ามพรมแดน อาทิ การลงนามใน FoC in CIQ ในการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงาน IMT-GT ปี 2568 และ (5) การแสวงหาความร่วมมือที่หลากหลาย
เพิ่มมากขึ้นกับหุ้นส่วนการพัฒนาภายนอกที่มีศักยภาพ
นอกจากนี้ รัฐมนตรีและผู้แทนรัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT ของทั้งสามประเทศได้ร่วมกันรับรองแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 30 แผนงาน IMT-GT โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินงานร่วมกันทั้งภายในอนุภูมิภาค IMT-GT และร่วมกับหุ้นส่วนการพัฒนาภายนอก เพื่อให้เกิดการบูรณาการ มีนวัตกรรม ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตามวิสัยทัศน์ของ IMT-GT รวมทั้งแสดงความชื่นชมต่อความก้าวหน้าและความสำเร็จของคณะทำงานทั้ง 8 สาขา สนับสนุนกรอบการประชุม CMGF ในการพัฒนาเมืองสีเขียว ส่งเสริม JBC และ UNINET ให้ร่วมมือกับคณะทำงานต่าง ๆ ตลอดจนชื่นชมความร่วมมือของพันธมิตรเพื่อการพัฒนาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารพัฒนาเอเชียและสำนักเลขาธิการอาเซียน ที่ร่วมสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้กรอบ IMT-GT ด้วยดีเสมอมา
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 31 แผนงาน IMT-GT และ
การประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ จังหวัดตรัง ในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2568
***********************
กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
14 กันยายน 2567