GMS

การประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงาน GMS ครั้งที่ 26

          เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีประจำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงาน GMS ครั้งที่ 26  (The 26th GMS Ministerial Conference) ซึ่งจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Building a Strong and Cohesive GMS Community with a Shared Future towards Resilient Economic Development” ณ กรุงเนปยีดอ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยมี ดร. Kan Zaw รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เป็นประธานการประชุม พร้อมนี้มีรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ระดับสูง และภาคีการพัฒนาเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย

          รัฐมนตรีแผนงาน GMS ได้ร่วมกันรับทราบผลการดำเนินงานที่สำคัญในด้านต่าง ๆ รวมถึง ผลการศึกษาแนวทางการเปลี่ยนผ่านเชิงดิจิทัลในอนุภูมิภาค GMS แนวทางการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและท้องถิ่น ความก้าวหน้าการดำเนินงานของสภาธุรกิจ GMS ในการขับเคลื่อนโครงการภายใต้แผนงาน GMS รวมทั้งยังได้ร่วมรับรองร่างข้อเสนอแนวคิดสำหรับการยกร่างยุทธศาสตร์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2573 ซึ่งจะพัฒนาเป็นยุทธศาสตร์ด้านนวัตกรรมฉบับสมบูรณ์เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำ GMS ครั้งต่อไปในปี 2567

          ในโอกาสนี้ ประเทศไทยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือรายสาขาที่สำคัญ อาทิ การขยายความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (CBTA) ซึ่งประกอบด้วยการเพิ่มเส้นทางและขยายระยะเวลาโครงการ การสร้างความมั่นคงทางพลังงานระดับภูมิภาค ผ่านการส่งเสริมตลาดพลังงานระยะสั้น พลังงานหมุนเวียน รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การร่วมพัฒนาและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของ GMS โดยเริ่มต้นจากภาคเศรษฐกิจในสาขาสำคัญ ได้แก่ การเกษตร และภาคการผลิตมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาศักยภาพเพื่อรองรับความท้าทายใหม่ ๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนผ่านเชิงดิจิทัลในภาคส่วนที่สำคัญของอนุภูมิภาค GMS พร้อมทั้งสนับสนุนแนวคิดในการเพิ่มบทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ได้ร่วมออกแบบและขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ภายใต้แผนงาน GMS เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างยั่งยืน มีประสิทธิภาพ ตอบสนองต่อสถานการณ์และความต้องการในบริบทที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ โดยใช้ประโยชน์จากกลไกต่าง ๆ ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเร่งรัดการดำเนินโครงการพัฒนาระดับอนุภูมิภาคที่เป็นเอกภาพ

 การประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงาน GMS ครั้งที่ 26 นี้ เป็นเวทีที่มีความสำคัญในการผลักดันความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อจัดการประเด็นร่วมระดับอนุภูมิภาคร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้การขับเคลื่อนโครงการภายใต้แผนงาน GMS ให้มีการดำเนินงานที่ทันต่อสถานการณ์ มีประสิทธิภาพ เปิดกว้าง ครอบคลุม และยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติของไทยในประเด็นการต่างประเทศ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการยกระดับให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับภูมิภาค และการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลบนพื้นฐานของการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ข่าว : กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ