OECD

การประชุมเผยแพร่รายงานการศึกษาและข้อเสนอแนะ โครงการ Reinforcing Thailand’s Anti-Corruption framework ภายใต้ Country Programme ระยะที่ 2

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ร่วมกับ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) จัดการประชุมเผยแพร่รายงานการศึกษาและข้อเสนอแนะของโครงการ Reinforcing Thailand’s Anti-Corruption Framework ซึ่งเป็นหนึ่งใน Country Programme (CP) ระยะที่ 2 ภายใต้สาขาความร่วมมือหลักธรรมาภิบาล เพื่อให้ภาคส่วนต่าง ๆ รับทราบและนำมาปรับใช้ในการดำเนินงานภายในประเทศ โดยเฉพาะการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD

โครงการ Reinforcing Thailand’s Anti-Corruption Framework ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับกรอบการดำเนินการด้านการต่อต้านการทุจริตของประเทศไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐาน OECD และเพื่อส่งเสริมการเข้าร่วมในคณะทำงานว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบนในการทำธุรกรรมธุรกิจระหว่างประเทศของ OECD (OECD Working Group on Bribery in International Business Transactions (WGB)) จากการศึกษาพบว่า ประเทศไทยควรพิจารณาดำเนินการเพื่อการพัฒนากรอบของกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องการต่อต้านสินบนระหว่างประเทศ เช่น การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายของประเทศไทยเรื่องความผิดฐานให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศหรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ (foreign bribery) และความรับผิดของนิติบุคคลในความผิดดังกล่าวให้มีรายละเอียดและสามารถบังคับใช้อย่างครอบคลุมตามที่อนุสัญญากำหนด การพิจารณาการลงโทษที่มีประสิทธิภาพ ได้สัดส่วน และสามารถยับยั้งการกระทำความผิด การกำหนดโทษทางแพ่งและโทษทางปกครองเพิ่มเติม การเพิ่มการบังคับใช้กฎหมายกับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เป็นต้น

ในการประชุมฯ นั้น ผู้แทน OECD ได้กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญาอย่างกว้างขวาง ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศหรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ (foreign bribery) ซึ่งรวมถึงการดำเนินคดีทางแพ่งและทางปกครอง และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการไม่นำค่าใช้จ่ายที่เป็นสินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศหรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศไปหักภาษี (Non-tax deductibility of bribes)

ทั้งนี้ รายงานและข้อเสนอแนะฉบับดังกล่าว ซึ่งดำเนินการภายใต้ Country Programme ระยะที่ 2 นั้น จะมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างประสิทธิภาพของกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเข้าเป็นสมาชิก OECD อย่างเต็มรูปแบบต่อไป

สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ OECD Working Group on Bribery in International Business Transactions (WGB) ได้ที่ www.oecd.org/en/about/committees/working-group-on-bribery

สามารถติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ Country Programme ระยะที่ 2 ได้ที่ bit.ly/4esk7RY