OECD

การเตรียมความพร้อมประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสมาชิก OECD

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 ธันวาคม 2566 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การสร้างความตระหนักรู้ในการเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic and Co-operation Development: OECD) ของประเทศไทย ครั้งที่ 1 ให้กับหน่วยงานภาครัฐ ณ โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญและกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD โดยมีนายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้บรรยายและดำเนินการประชุม และมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและสื่อมวลชนมากกว่า 40 หน่วยงาน เข้าร่วม

การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เป็นการสร้างความตระหนักรู้ให้กับหน่วยงานภาครัฐอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยรองเลขาธิการฯ ได้กล่าวถึงภาพรวมและสาระสำคัญของการเข้าเป็นสมาชิก OECD รวมถึงประโยชน์และผลกระทบหากไทยจะเข้าเป็นสมาชิกในอนาคต โดยประโยชน์ที่ไทยจะได้รับอาจรวมถึงการปฏิรูปโครงสร้างหลายมิติและการมีมาตรฐานเทียบเท่าสากล การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและโอกาสการเข้าถึงตลาดประเทศสมาชิก การเข้าถึงฐานข้อมูลเศรษฐกิจโลกที่หลากหลาย การได้รับคำปรึกษาและความช่วยเหลือทางวิชาการจาก OECD และการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและการส่งเสริมบทบาทไทยในเวทีโลก จากนั้นเป็นการร่วมอภิปรายของผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในหัวข้อ “ทิศทางในการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อเข้าสู่การเป็นสมาชิก OECD” โดยมีประเด็นการอภิปรายที่สำคัญ ได้แก่ (1) บทบาทของภาครัฐและกระทรวงการต่างประเทศในการขับเคลื่อนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย โดย นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (2) มุมมองของภาคเอกชนต่อการเข้าเป็นสมาชิก OECD และประเด็นที่ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐดำเนินการ โดย นายไพรัช บูรพชัยศรี รองประธานหอการค้าไทย และ (3) การปรับมาตรฐานของไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐาน OECD และการเข้าเป็นภาคีตราสารทางกฎหมายของ OECD โดย นายณรัณ โพธิ์พัฒนชัย นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการพิเศษ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่จะช่วยให้หน่วยงานภาครัฐตระหนักรู้และสามารถดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่ประสงค์จะเข้าเป็นสมาชิก OECD ในอนาคต เพื่อยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานในทุกมิติของไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐาน OECD และเทียบเท่าสากล ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการปฏิรูปโครงสร้าง เพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุน และทำให้ไทยไม่ตกขบวนมาตรฐานโลก

ในช่วงท้ายของการประชุมฯ ได้มีการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย ซึ่งที่ประชุมมีประเด็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับการเข้าเป็นสมาชิกทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งกฎหมายและกฎระเบียบ อาทิ ผลกระทบและการจัดทำข้อสงวนจากการเข้าเป็นภาคีตราสารทางกฎหมายของ OECD การยกระดับสถานะของไทยในคณะกรรมการของ OECD เพื่อเพิ่มระดับความเข้มข้นในการมีส่วนร่วม แผนการดำเนินงานของไทยในการเข้าเป็นสมาชิกในระยะถัดไป การมีส่วนร่วมระดับพื้นที่ และการส่งเสริมความร่วมมือภาคีเครือข่ายระหว่างภาคเอกชนไทยกับประเทศสมาชิก OECD โดยมีนายติยารัตน์ เนียมเกาะเพ็ชร-กาแดร์ เจ้าหน้าที่ OECD เข้าร่วมผ่านระบบประชุมทางไกล เพื่อให้ข้อมูลและแบ่งปันมุมมองของ OECD ที่มีต่อประเทศไทย รวมถึงการสนับสนุนให้ไทยเข้าเป็นภาคีตราสารทางกฎหมายของ OECD ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ OECD ใช้พิจารณาการเข้าเป็นสมาชิก และเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามและความมุ่งมั่นของไทยที่จะปรับมาตรฐานภายในประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐาน OECD

ในโอกาสนี้ รองเลขาธิการ สศช. ยังเน้นย้ำถึงประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย ว่าจะต้องเริ่มจาก (1) แสดงถึงความมุ่งมั่นในการเข้าเป็นสมาชิก (willingness) เช่น เข้าร่วมประชุม ทำกิจกรรมร่วมกับ OECD เพื่อนำไปสู่การทำให้ (2) เกิดความพร้อม ซึ่งเป็นการแสดงถึงความกระตือรือร้นในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก เพื่อส่งเสริมให้ไทย (3) พัฒนาอย่างยั่งยืน เนื่องจากการเข้าเป็นสมาชิก OECD ไม่ใช่เพียงเพื่อเข้าไปเป็นสมาชิก แต่เพื่อที่จะพัฒนาให้ไทยสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ สศช. มีกำหนดการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งที่ 2 ในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับสาธารณชน ทั้งภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม รวมถึงเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

สามารถติดตามความก้าวหน้าการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย ได้ที่ bit.ly/45OiXLG 

TH2OECD