เมื่อวันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การสร้างความตระหนักรู้ในการเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic and Co-operation Development: OECD) ของประเทศไทย ให้กับภาคเอกชน ณ โรงแรมเจดับบลิว แมริออท กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจาก นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถา ในหัวข้อ “ประเทศไทยกับการเข้าเป็นสมาชิก OECD” และมี นายพงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วม โดยการประชุมฯ มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 120 คน ประกอบด้วย ผู้แทนภาคเอกชน อาทิ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย รวมทั้งผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและสื่อมวลชน โดยได้มีการถ่ายทอดสดการประชุมผ่านทาง Facebook LIVE ของ สศช. อีกทางหนึ่งด้วย
ในโอกาสนี้ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้กล่าวนำเสนอเกี่ยวกับความจำเป็นของประเทศไทยในการเข้าเป็นสมาชิก OECD โดยเฉพาะด้านมาตรฐานที่จะทำให้ไทยอยู่ในกฎ ระเบียบ และกติการะหว่างประเทศ ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสและเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก โดย OECD ถือเป็นองค์การระหว่างประเทศที่เปรียบเสมือนมาตรฐานขั้นสูงของประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งหากไทยเข้าเป็นสมาชิก OECD ได้ ก็จะช่วยพัฒนาและยกระดับมาตรฐานภายในประเทศของไทย ทั้งในด้านระบบเศรษฐกิจ ธรรมาภิบาล การศึกษา สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกกลุ่มให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงกรอบคิดนโยบายของรัฐบาลที่สอดคล้องกับเงื่อนไขการเข้าเป็นสมาชิก OECD ไม่ว่าจะเป็น การสร้างหลักนิติธรรม การปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อสนับสนุนความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ การเปลี่ยนรัฐอุปสรรคให้เป็นรัฐสนับสนุนและโปร่งใส การใช้ฐานข้อมูลขับเคลื่อนประเทศ การทูตเพื่อเศรษฐกิจ รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพคนซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญที่สุดที่จะเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศ พร้อมเน้นย้ำว่าประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ตลอดกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD และการเข้าเป็นสมาชิกจะสำเร็จลุล่วงได้นั้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนทุกคน
จากนั้น นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กล่าวบรรยายการดำเนินงานของประเทศไทยในการเข้าเป็นสมาชิก OECD เพื่อให้ภาคเอกชนรับทราบถึงที่มาและความสำคัญของการเข้าเป็นสมาชิก ตลอดจนแผนการดำเนินงานของภาครัฐที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน รวมถึงการเพิ่มความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนไทยกับภาคเอกชนของประเทศสมาชิก OECD ให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ผ่านการเข้าร่วมเครือข่ายภาคธุรกิจเอกชนของ OECD (Business at OECD: BIAC) ซึ่งจะช่วยสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการเข้าเป็นสมาชิก OECD อย่างเป็นองค์รวม นอกจากนี้ รองเลขาธิการฯ ยังเป็นผู้ดำเนินรายการในช่วงการหารือของผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ในหัวข้อ “ประโยชน์และผลกระทบจากการเข้าเป็นสมาชิก OECD และแนวทางการเตรียมความพร้อมของภาคเอกชน เพื่อรับมือและปรับตัวต่อการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย” โดยมีประเด็นย่อยที่สำคัญ ได้แก่ (1) ด้านการบริการและการลงทุน โดย นายสุทธิเกตติ์ ทัดพิทักษ์กุล ที่ปรึกษาด้านการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (2) ด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดย ดร.อภิรดี ขาวเธียร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และ (3) ด้านการแข่งขันทางการค้า โดย ดร.อัครพล ฮวบเจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า โดยผู้แทนภาครัฐได้นำเสนอเกี่ยวกับการปรับตัวของภาครัฐเองในการเข้าเป็นสมาชิกของ OECD ทั้งในด้านการปรับปรุงกฎระเบียบ และการออกมาตรการในการช่วยเหลือเอกชนและ SMEs ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่จะช่วยให้ภาคเอกชนรับทราบว่าภาครัฐมีแนวทางในการสนับสนุนและส่งเสริม ตลอดจนมาตรการรองรับกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเข้าเป็นสมาชิก OECD เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถวางแผนเพื่อปรับแนวทางและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของตนในอนาคต ให้สอดรับกับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจของประเทศสมาชิก OECD
ในช่วงบ่าย เป็นการรับฟังจากคลิปวีดิโอของผู้แทน OECD นำเสนอบทบาทของภาคเอกชนใน OECD ประกอบด้วย (1) ความร่วมมือระหว่าง OECD กับไทย และมุมมองต่อภาคธุรกิจเอกชน โดย Alexander Bohmer, Head of Division, South Asia and Southeast Asia, Global Relations and Co-operation Directorate (2) บทบาทของภาคเอกชนใน OECD และประโยชน์ที่ภาคเอกชนได้รับ โดย Hanni Rosenbaum, Executive Director, Business at OECD (BIAC) และ (3) โอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจากการเข้าเป็นสมาชิก OECD โดย Ms. Lucia Cusmano, Acting Head of Division, Entrepreneurship SME and Tourism Division, Center for Entrepreneurship, SMEs, Regions and Cities โดยผู้แทนของ OECD เน้นย้ำว่าภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรฐานของ OECD ที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรอบด้าน อาทิ การปกป้องตลาดเสรี การแก้ไขแรงงานขาดทักษะ การสร้างความยืดหยุ่นด้านสาธารณสุขและอาหาร การพัฒนานโยบายดิจิทัล เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านอย่างยั่งยืน
จากนั้น เป็นการเสวนาของผู้แทนภาคเอกชน ในหัวข้อ “บทบาทของภาคเอกชนในการขับเคลื่อนประเทศไทยผ่านการเข้าร่วมการเป็นสมาชิก OECD และประเด็นที่ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐดำเนินการ” โดยมี ดร.ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดร.ศุภฤกษ์ ชมชาญ ที่ปรึกษาสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และประธานชมรมนักวิเคราะห์เศรษฐกิจ สมาคมธนาคารไทย เป็นผู้ร่วมเสวนา โดยผู้แทนภาคเอกชนเห็นพ้องกันว่าการเข้าเป็นสมาชิก OECD จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) ของประเทศไทย และได้ชูประเด็นสำคัญที่ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการ อาทิ การเร่งปรับปรุงกฎหมายภาคบริการให้เปิดเสรีมากยิ่งขึ้น การมีกลไกและกระบวนการพัฒนา SMEs ไทยให้ไปถึงมาตรฐาน OECD การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขับเคลื่อนผู้ประกอบการเพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจนอกระบบเข้าสู่ในระบบให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการอยู่ในวงโคจรมาตรฐานระดับสากลและสามารถแข่งขันได้เมื่อเข้าเป็นสมาชิก OECD
ในช่วงสุดท้าย ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้แทนภาคเอกชนกับผู้แทนผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองและช่วยสร้างความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างสองฝ่าย โดยผู้ประกอบการ SMEs มีข้อห่วงกังวลว่า การเข้าเป็นสมาชิก OECD จะมีการเปิดเสรีภาคบริการ การหลั่งไหลเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติที่มีเงินทุนและมาตรฐานสูง ซึ่งอาจทำให้ SMEs ไทยที่ค่อนข้างเปราะบางอยู่แล้วได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้น ซึ่งผู้แทนภาคเอกชนได้กล่าวเสริมความเชื่อมั่นให้กับ SMEs ว่าการเข้าเป็นสมาชิก OECD สามารถเจรจาเพื่อขอจัดทำข้อสงวนในส่วนที่ไทยยังไม่พร้อมเปิดเสรีได้ ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนก็พร้อมให้คำแนะนำและช่วยเหลือ SMEs อาทิ โครงการ Big Brother ของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่มีวัตถุประสงค์ให้เอกชนรายใหญ่ช่วยรายย่อย พร้อมเน้นย้ำว่า ผู้ประกอบการ SMEs ก็ต้องให้ความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชน ในการรวมกลุ่มกันเพื่อระบุถึงปัญหาและประเด็นที่ SMEs ต้องการได้รับคำแนะนำและช่วยเหลือ เพื่อให้ทุกฝ่ายรับทราบและสามารถวางแผนการดำเนินงานร่วมกันได้
สำหรับการดำเนินการภายในของประเทศไทยนั้น นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยในการเข้าเป็นสมาชิก OECD แล้ว รวมทั้งยังได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย เพื่อใช้เป็นกลไกประสานงานกับทุกภาคส่วน โดย สศช. จะประสานดำเนินการในรายละเอียดต่อไป รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่มในการขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสมาชิก OECD เชื่อมไทย เชื่อมโลก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยทุกคน
สามารถติดตามความก้าวหน้าการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย ได้ที่ bit.ly/43SdmE0
bit.ly/43SdmE0 (TH2OECD)