เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 8 แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ณ นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประธานการประชุมฯ พร้อมด้วยผู้นำประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอีก 4 ประเทศ ประกอบด้วย ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ร่วมกับประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะรัฐมนตรีประจำแผนงาน GMS และนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะเจ้าหน้าที่อาวุโสของฝ่ายไทย เข้าร่วมการประชุมฯ
ในการประชุมดังกล่าว ผู้นำทั้ง 6 ประเทศ ได้หารือภายใต้หัวข้อหลัก “มุ่งสู่การเป็นประชาคมที่ดีกว่าเดิมด้วยการพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Towards a Better Community Through Innovation-driven Development)” โดยล้วนแสดงความมุ่งมั่นที่จะดำเนินความร่วมมือภายใต้แผนงาน GMS ผ่านการสนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ครอบคลุม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวและดิจิทัล พร้อมทั้งยกระดับการเชื่อมโยงระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผู้นำทุกประเทศยังได้ร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์ 2 ฉบับ ได้แก่ (1) ยุทธศาสตร์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2573 และ (2) แถลงการณ์ร่วมระดับผู้นำ ครั้งที่ 8 แผนงาน GMS นอกจากนี้ ผู้นำ GMS ยังได้รับทราบผลการดำเนินงานในช่วงปีที่ผ่านมา โดยมีความก้าวหน้าของโครงการสำคัญ โดยเฉพาะการกลับมาดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Cross-Border Transport Agreement: CBTA) ซึ่งช่วยให้การขนส่งสินค้าและการเดินทางระหว่างกันในกลุ่มประเทศสมาชิกมีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนในอนุภูมิภาค
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงเน้นย้ำความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการดำเนินงานเพื่อร่วมพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตามที่รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายในการเป็นผู้ส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งร่วมกันของอนุภูมิภาค โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. สนับสนุนความเชื่อมโยงอย่างครอบคลุม ผ่านการมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อ รวมถึงพัฒนากฎระเบียบทีjสอดคล้องกันเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการขนส่งข้ามพรมแดนให้มีประสิทธิภาพ โดยขยายการพัฒนาและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งขนาดใหญ่ อาทิ แผนดำเนินการรถไฟระหว่างประเทศสายกรุงเทพ-เวียงจันทน์ แผนการพัฒนาสนามบินแห่งใหม่
2. เน้นย้ำการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ในอนาคต โดยเฉพาะการพัฒนาบริการและเทคโนโลยีด้านการเงินในการก้าวสู่สังคมไร้เงินสด ควบคู่กับการพัฒนาอุตสาหกรรมให้ทันสมัย รวมทั้งใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมผ่านการผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลในอนุภูมิภาค
3. ส่งเสริมการสร้างความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนในประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญ โดยเฉพาะประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อม อาทิ ความเท่าเทียมทางเพศ การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ บริการสาธารณสุขที่ทันสมัยและทั่วถึง เศรษฐกิจสีเขียว และพลังงานสะอาด โดยสนับสนุนให้อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงร่วมกันส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์และสร้างหลักประกันความมั่นคงทางสังคม การขยายระบบสวัสดิการสังคมให้ครอบคลุม รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 8 แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ในครั้งนี้จะส่งเสริมให้ความร่วมมือในการพัฒนาร่วมกันเข้มแข็งขึ้นและเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการบูรณาการระดับภูมิภาค โดยความร่วมมืออย่างแข็งขันนี้จะขับเคลื่อนอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงสู่การเป็นอนุภูมิภาคที่มีการบูรณาการมากขึ้น มีความเจริญรุ่งเรือง ยั่งยืน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
โดยการประชุมระดับผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศครั้งต่อไป มีกำหนดจัดขึ้นในปี 2570 โดยรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม
กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
7 พฤศจิกายน 2567