APEC

รายงานเขตเศรษฐกิจเอเปค ค.ศ. 2024 หัวข้อ การปฏิรูปโครงสร้างและการเข้าถึงบริการทางการเงิน

รายงานเขตเศรษฐกิจเอเปค ค.ศ. ๒๐๒๔ (APEC Economic Policy Report: AEPR 2024) หัวข้อ การปฏิรูปโครงสร้างและการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Structural Reform and Financial Inclusion) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการปฏิรูปโครงสร้างที่สนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงิน ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ยืดหยุ่น และครอบคลุม โดยนำเสนอประเด็นด้านอุปสงค์และด้านอุปทานในการเข้าถึงบริการทางการเงิน โดยมุ่งดำเนินการผ่านการปฏิรูปโครงสร้างเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้บริการทางการเงินได้อย่างเท่าเทียม ทั้งนี้ การขยายการเข้าถึงบริการทางการเงินจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการที่มีการวางแผนและพิจารณาอย่างรอบคอบ

แม้ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเปคจะมีความก้าวหน้าในการเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน อาทิ ร้อยละ 84 ของประชากรในภูมิภาคที่มีบัญชีการเงินหรือบัญชีเงินมือถือ แต่ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการขยายการเข้าถึงบริการทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อให้บริการทางการเงินสามารถเข้าถึงทุกกลุ่มประชากรได้อย่างทั่วถึง โดยมีแนวทางที่สำคัญ ได้แก่ การส่งเสริมการแข่งขันและนวัตกรรมในภาคการเงิน การพัฒนาความรู้ทางการเงินให้กับประชาชน และการสร้างแนวปฏิบัติที่เหมาะสมในการรองรับการใช้งานอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ การปฏิรูปโครงสร้างสามารถมีบทบาทสำคัญในการขยายการเข้าถึงบริการทางการเงินที่มีคุณภาพและเป็นธรรมสำหรับทุกคน โดยรายงานดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้

(1) การเข้าถึงบริการทางการเงินมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยช่วยให้คนและธุรกิจเข้าร่วมกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การกระจายบริการทางการเงินให้เข้าถึงกลุ่มรายได้น้อยและลดความเหลื่อมล้ำเป็นกุญแจสำคัญ โดยเฉพาะการพัฒนาด้านการเงินดิจิทัลเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและประชากรชายขอบ

(2) การเข้าถึงบริการทางการเงินเพื่อช่วยเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจให้กับกลุ่มที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้ใช้ (untapped economic potential) โดยการเข้าถึงบริการทางการเงินช่วยเสริมศักยภาพกลุ่มที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจแฝง โดยช่วยให้กลุ่มเหล่านี้สามารถบริหารจัดการทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการเก็บออมและเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสินเชื่อที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสนับสนุนการเปลี่ยนธุรกิจนอกระบบเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ(3) การเข้าถึงบริการทางการเงินในภูมิภาคเอเปค โดยสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคได้ดำเนินการเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับความต้องการเฉพาะกลุ่ม โดยได้ให้บริการผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผ่านทางสถาบันการเงินของรัฐหรือโครงการที่รัฐบาลเป็นผู้ริเริ่มเพื่อขยายการเข้าถึงบริการทางการเงิน นอกจากนี้ ระบบชำระเงินดิจิทัลและธนาคารดิจิทัลยังมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินและช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินอื่น ๆ

รายงานดังกล่าวยังได้นำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยสามารถสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

(1) การขยายการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างมีคุณภาพและเท่าเทียมเพื่อสร้างเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน ผ่านการขจัดอุปสรรคเชิงโครงสร้างและการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงบริการทางการเงิน อาทิ การรักษาเสถียรภาพของภาคการเงิน การปรับลดต้นทุนในการเข้าถึงบริการทางการเงิน การให้ความสำคัญกับ MSMEs ในการเข้าถึงบริการทางการเงิน และส่งเสริมนวัตกรรมดิจิทัลในภาคการเงิน

(2) การสร้างความครอบคลุมในการเข้าถึงบริการทางการเงิน ผ่านการขจัดอุปสรรคเชิงโครงสร้างในการเข้าถึงบริการทางการเงิน การลดขั้นตอนและอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงบริการทางการเงิน และการให้ความสำคัญกับความต้องการเฉพาะของกลุ่มผู้มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้ใช้ (untapped economic potential)

(3) การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากบริการทางการเงิน โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างองค์ความรู้ทางการเงิน และการสนับสนุนโอกาสทางธุรกิจในการเป็นผู้ประกอบการ


อ่านเอกสารฉบับเต็มได้ที่: https://www.apec.org/publications/2024/11/2024-apec-economic-policy-report

กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ