OECD

สภาพัฒน์หารือหน่วยงานรัฐ วางแผนการขับเคลื่อนกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ปี 2568

          เมื่อวันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม 2567 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดการประชุมหารือเกี่ยวกับการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย เพื่อทำความเข้าใจกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการตามกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD โดยเฉพาะในช่วงปี 2568ที่ไทยจะต้องเริ่มจัดทำ Initial Memorandum (IM) ซึ่งเป็นเอกสารการประเมินตนเองในเบื้องต้นและเป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก โดยมี นายธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นประธานการประชุม และมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 130 คน เข้าร่วม

          ในโอกาสนี้ ประธานฯ ได้แจ้งภาพรวมความก้าวหน้าการดำเนินการของไทย โดยเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2567 นายกรัฐมนตรีได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมี สศช. กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เป็นฝ่ายเลขานุการ สำหรับการดำเนินการร่วมกับ OECD นั้น ปัจจุบันไทยมีสถานะเป็นประเทศผู้สมัครที่อยู่ในกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก (accession candidate country) ซึ่งสามารถเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการ OECD (OECD Committee) ได้ทุกคณะ โดยในระยะเริ่มแรกหน่วยงานไทยควรพิจารณาเข้าร่วมการประชุมกับคณะกรรมการที่จะดำเนินการประเมินการเข้าเป็นสมาชิกของไทยจำนวน 26 คณะ เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจในภารกิจของคณะกรรมการ ตลอดจนเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์กับประเทศสมาชิก OECD

          นอกจากนี้ ผู้แทน กต. ได้แจ้งต่อที่ประชุมถึงผลการเยือนประเทศไทยของเลขาธิการ OECD ระหว่างวันที่ 29 – 31 ตุลาคม 2567 ซึ่งได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี และเข้าร่วมกิจกรรมเปิดตัวการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย โดยเลขาธิการ OECD เน้นย้ำว่ากระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD เป็นกระบวนการปลายเปิด ไม่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน ซึ่งไทยควรใช้เวลาในการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จำเป็น และการเข้าเป็นสมาชิกของไทยจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ร่วมระหว่างไทยกับ OECD ทั้งนี้ OECD พร้อมให้การสนับสนุนและยกระดับความร่วมมือกับหน่วยงานไทย เช่น การจัด capacity-building การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ (technical assistance) เพื่อสนับสนุนกระบวนการเข้าเป็นสมาชิกของไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

          สำหรับการจัดทำ IM ผู้แทน สคก. ได้ชี้แจงให้ที่ประชุมรับทราบถึงขั้นตอนการจัดทำ IM ซึ่งเป็นเอกสารการประเมินตนเอง (self-assessment) เกี่ยวกับความสอดคล้องระหว่างกฎหมาย นโยบาย และแนวปฏิบัติภายในประเทศ กับตราสารทางกฎหมายของ OECD (OECD legal instruments) โดยหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะหน่วยงานหลักในคณะกรรมการ OECD 26 คณะ จะต้องเริ่มศึกษารายละเอียดของตราสารทางกฎหมายของ OECD ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับกฎหมาย นโยบาย และแนวปฏิบัติที่หน่วยงานดำเนินการอยู่ ซึ่งหากยังไม่สอดคล้อง หน่วยงานจะต้องระบุแผนปฏิบัติการ (further actions) ซึ่งเป็นแนวทางที่คาดว่าจะดำเนินการให้สอดคล้อง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับ OECD รับทราบ และหน่วยงานสามารถเสนอข้อสงวน (proposed reservations) ได้ในประเด็นที่พิจารณาแล้วเห็นว่าไทยยังไม่พร้อมให้มีผลผูกพัน

          ผู้แทน สคก. ยังชี้แจงถึงระบบการจัดทำ IM โดย สคก. ได้ดำเนินการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับกรอกข้อมูลโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการแปลตราสารทางกฎหมายของ OECD กว่า 250 ฉบับ จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย และการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประเมินความสอดคล้องเบื้องต้น

          ระบบ AI จะจับคู่คำศัพท์เฉพาะที่อยู่ในตราสารฉบับนั้น กับคำศัพท์เฉพาะที่อยู่ในกฎหมายแม่และกฎหมายลำดับรองของไทย ซึ่งจะทำให้ทราบว่าหน่วยงานใดเกี่ยวข้องกับตราสารฉบับนั้น เพื่อที่จะได้ประสานไปยังหน่วยงานได้ถูกต้อง นอกจากนี้ หน่วยงานยังสามารถตรวจสอบการวิเคราะห์ของระบบพร้อมทั้งกรอกข้อมูลเพิ่มเติมลงแพลตฟอร์มเพื่อให้มีการประเมินความสอดคล้องเพิ่มเติม โดยสามารถกรอกได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งจะใช้ระบบการแปลภาษาอัตโนมัติในการแปลระหว่างสองภาษา

          ในขั้นตอนสุดท้าย นักกฎหมายกฤษฎีกาจะทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง ซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคทางด้านภาษา และช่วยให้การจัดทำ IM ของประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเป็นระบบมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ สคก. คาดว่าจะเปิดระบบให้หน่วยงานกรอกข้อมูลได้ในเดือนเมษายน 2568 และยื่น IM ให้กับ OECD ได้ในเดือนธันวาคม 2568 อีกทั้งยังมีแผนจะพัฒนาระบบให้หน่วยงานไทยและ OECD สามารถใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวในขั้นตอนการประเมินทางเทคนิคเชิงลึกในอนาคตอีกด้วย

          สำหรับการดำเนินการในปัจจุบัน สศช. อยู่ระหว่างการเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณามอบหมายหน่วยงานหลักและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการเข้าเป็นสมาชิก OECD เพื่อให้ประเทศไทยสามารถดำเนินกระบวนการเข้าเป็นสมาชิกได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นองค์รวม ตลอดจนการเร่งสร้างความตระหนักรู้ให้กับสาธารณชน โดยเฉพาะประโยชน์จากการเข้าเป็นสมาชิก OECD เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนและทำให้การเข้าเป็นสมาชิก OECD เป็นเรื่องของคนไทยทุกคน

สามารถติดตามความก้าวหน้าการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย ได้ที่  bit.ly/43SdmE0

bit.ly/43SdmE0

TH2OECD