เมื่อวันพุธที่ 7 สิงหาคม 2567 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดการประชุมหารือเกี่ยวกับการเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย กับหน่วยงานภาครัฐ ณ สศช. ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือแนวทางในการดำเนินงานร่วมกับคณะกรรมการ OECD จำนวน 26 คณะ ในกระบวนการจัดทำข้อตกลงเบื้องต้น (Initial Memorandum: IM) และการประเมินทางเทคนิคเชิงลึก (Technical Review) ตามแผนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย (Roadmap for the OECD Accession Process of Thailand) โดยมีนายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม และมีผู้แทนจาก 24 กระทรวง/หน่วยงาน เข้าร่วม
ในโอกาสนี้ รองเลขาธิการฯ ได้กล่าวถึงสถานะการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา โดยเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 คณะมนตรี OECD มีมติเห็นชอบแผนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย ซึ่งภายใต้แผนการเข้าเป็นสมาชิกฯ ได้ระบุข้อกำหนด เงื่อนไข และขั้นตอนการเข้าเป็นสมาชิกของไทย ที่ระหว่างกระบวนการจะต้องจัดทำข้อตกลงเบื้องต้นเพื่อประเมินความสอดคล้องของประเทศไทยกับตราสารทางกฎหมายของ OECD และการประเมินทางเทคนิคเชิงลึกผ่านคณะกรรมการ OECD จำนวน 26 คณะ เพื่อประเมินความมุ่งมั่นและความสามารถของประเทศไทยในการปฏิบัติตามตราสารทางกฎหมาย แนวนโยบายและแนวปฏิบัติที่ดีของ OECD ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นต้องหารือกับหน่วยงานที่มีพันธกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าเป็นสมาชิก (Accession Review) ซึ่งจะต้องดำเนินการร่วมกับคณะกรรมการดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
ที่ประชุมได้รับทราบถึงภารกิจที่หน่วยงานผู้ประสานงานต้องดำเนินการ ได้แก่ (1) การเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการ OECD และมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของคณะกรรมการอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2567 เป็นต้นไป (2) การจัดทำข้อตกลงเบื้องต้น ซึ่งต้องมีการประเมินความสอดคล้องทางกฎหมาย นโยบาย และแนวปฏิบัติภายในประเทศกับตราสารทางกฎหมายของ OECD ด้วยตนเอง (Self-assessment) เพื่อนำไปประกอบเป็นข้อตกลงเบื้องต้นขึ้น จากนั้นคณะกรรมการ OECD จะใช้ข้อมูลจากข้อตกลงเบื้องต้น ในการวางแผนการประเมินทางเทคนิคเชิงลึกร่วมกับประเทศไทย โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป และ (3) การประเมินทางเทคนิคเชิงลึกร่วมกับคณะกรรมการ OECD ที่อาศัยการปรับกฎหมาย นโยบาย และแนวปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะกรรมการ OECD ซึ่งจะเริ่มขึ้นหลังจากประเทศไทยดำเนินการยื่นข้อตกลงเบื้องต้นฉบับสมบูรณ์ให้แก่ OECD และได้เน้นย้ำให้หน่วยงานผู้ประสานงานเตรียมความพร้อมด้านงบประมาณในการเข้าร่วมประชุมกับ OECD ในโอกาสต่อไปด้วย
สำหรับการดำเนินการตามแผนการเข้าเป็นสมาชิกฯ นั้น ประเทศไทยมีแผนที่จะดำเนินการผ่านคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และอยู่ระหว่างการเสนอคำสั่งแต่งตั้ง โดยอาจดำเนินการผ่านกลไกของคณะอนุกรรมการในภารกิจ 3 ด้าน ได้แก่ (1) การขับเคลื่อนการดำเนินงานภายในประเทศเพื่อเข้าเป็นสมาชิก OECD เพื่อกำหนดแนวทางและขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านนโยบายและแนวปฏิบัติให้สอดคล้องกับแผนการเข้าเป็นสมาชิกฯ รวมถึงกำกับและติดตามผลการดำเนินงาน (2) การสร้างความสัมพันธ์กับ OECD เพื่อกำหนดนโยบายและแนวทางในการยกระดับความร่วมมือกับ OECD ในทุกมิติ เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และมาตรฐานของ OECD อาทิ การขอรับการสนับสนุนด้านการสมัครสมาชิกจากประเทศสมาชิก การมีส่วนร่วมในกลไกความร่วมมือของ OECD และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศสมาชิก และ (3) การปรับกฎหมายและกฎระเบียบตามมาตรฐาน OECD โดยศึกษาความสอดคล้องของกฎหมายและกฎระเบียบภายในประเทศกับตราสารทางกฎหมายของ OECD และกำหนดแนวนโยบายในการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบดังกล่าวให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และมาตรฐานของ OECD รวมทั้งเร่งรัดและติดตามผลการดำเนินงานของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ สศช. มีแผนจะดำเนินการเชิญผู้แทนภาคเอกชน อาทิ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย ผ่านกลไกหรือกระบวนการต่าง ๆ ร่วมกับภาครัฐ และสนับสนุนการสร้างเครือข่ายทำงานแบบบูรณาการทุกภาคส่วนต่อไป
สามารถติดตามความก้าวหน้าการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย ได้ที่ url.in.th/NENXi
TH2OECD