การประชุม OECD Ministerial Council Meeting 2024 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 พฤษภาคม 2567 ภายใต้หัวข้อ “ร่วมสร้างกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลง: เปิดประเด็นอภิปรายระดับโลกแบบมุ่งเป้า พึ่งพาได้ เพื่อการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืน” (Co-creating the flow of change: Leading Global Discussions with Objective and Reliable Approaches towards Sustainable and Inclusive Growth) ซึ่งมีประเทศญี่ปุ่นเป็นประธาน โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
ผู้แทนระดับกระทรวงที่เข้าร่วมการประชุม OECD Ministerial Council Meeting 2024 ร่วมกันหารือเพื่อรับมือกับความท้าทายระดับโลก อาทิ ด้านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม การเข้าไม่ถึงระบบสารสนเทศดิจิทัล การขาดแคลนงบประมาณเพื่อสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุม ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลแบบมีหลักฐานเชิงประจักษ์และการมีมาตรฐานที่สูง พึ่งพาได้ โดยมีจุดมุ่งหมายในการสร้างสังคมคุณภาพที่โอบรับทุกชีวิตอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ที่ประชุมยังเน้นย้ำภารกิจที่มีความสำคัญในหลากหลายด้าน ได้แก่ การปรับปรุงผลิตภาพและคุณภาพของการจ้างงาน การสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การสร้างนวัตกรรม การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา การนำเทคโนโลยีมาใช้สำหรับการเปลี่ยนผ่านที่ยั่งยืน การกระชับความร่วมมือแบบพหุภาคีระหว่าง OECD กับสหประชาชาติ G20 G7 APEC อาเซียน และองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ การสรรหาสมาชิกใหม่ในภูมิภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิภาคแถบอินโด-แปซิฟิก การสร้างระบบการค้าแบบพหุภาคี (Multilateral Trading System: MTS) ที่ครอบคลุมและยุติธรรมกับ WTO การส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่นและมั่นคง การมุ่งส่งเสริมระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ขั้นสูงที่ปลอดภัย มั่นคง และเชื่อถือได้โดยสนับสนุน Hiroshima AI Process ที่ได้รับความเห็นชอบจากผู้นำ G7 การปฏิรูประบบภาษีให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลผ่านหลักการ Two-Pillar Solution ที่ OECD หารือร่วมกับ G20 การใช้ประกาศว่าด้วยการลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติเพื่อสร้างบรรยากาศการลงทุนที่โปร่งใส การควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ตามความตกลงปารีส การจัดหางบประมาณสำหรับการเปลี่ยนผ่านที่ยั่งยืนควบคู่กับการมีตลาดซื้อขายคาร์บอนที่โปร่งใส (High integrity carbon markets) การสนับสนุนเศรษฐกิจและธุรกิจแบบหมุนเวียน การเคารพสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพพื้นฐาน การสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศผ่านแนวปฏิบัติและการวิเคราะห์ข้อมูลที่ครอบคลุม น่าเชื่อถือ การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และการมีนโยบายที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-driven Policies) ครอบคลุมและทั่วถึง เพื่อสนับสนุนการทำงานของสำนักเลขาธิการ OECD
นอกจากนี้ยังมีการกล่าวต้อนรับไทยที่ได้ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงในการสมัครเป็นสมาชิก OECD แสดงความยินดีที่อาร์เจนตินา และอินโดนีเซีย อยู่ระหว่างการปรับตัวตาม Accession Roadmap และชื่นชมประเทศที่กำลังอยู่ในกระบวนการภาคยานุวัติ เช่น บราซิล บัลแกเรีย โครเอเชีย เปรูและโรมาเนีย รวมไปถึงแสดงความยินดีกับคอสตาริกา ที่จะเป็นประธาน MCM ในปีหน้า
กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ