OECD

สศช. เร่งสร้างความตระหนักรู้เพื่อผลักดันความร่วมมือระหว่าง OECD กับภาคเอกชนไทย

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้นำเสนอ เรื่อง การเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ของประเทศไทย ให้กับคณะกรรมการหอการค้าไทย รับทราบและตระหนักรู้ถึงบทบาทของภาคเอกชนซึ่งจะเป็นภาคส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย โดยมีนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานกิตติมศักดิ์ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ และ ดร.กฤษณะ วจีไกรลาศ กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย และกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เข้าร่วมรับฟังและให้ข้อคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

รองเลขาธิการฯ ได้นำเสนอภาพรวมเกี่ยวกับ OECD ซึ่งรวมถึงโครงสร้างของ OECD ที่เปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจ ภาคแรงงาน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ จากประเทศสมาชิกและมิใช่ประเทศสมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมในลักษณะของ Policy Makers and Policy Shapers เพื่อให้ข้อเสนอแนะและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่าง ๆ ร่วมกับ OECD  โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่มีกลุ่มเฉพาะซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของเครือข่ายภาคธุรกิจของประเทศสมาชิก OECD (Business at the OECD: BIAC) มีบทบาทสำคัญในการให้ข้อเสนอแนะหรือมุมมองทางธุรกิจ เพื่อให้ OECD นำไปใช้ในการกำหนดนโยบายที่ครอบคลุมและเหมาะสมกับธุรกิจทุกขนาดตามบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยภาคเอกชนไทยสามารถเข้าร่วม BIAC ในฐานะ Observers ซึ่งปัจจุบันมีองค์กรภาคเอกชนจากหลายประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกเข้าร่วม เช่น Federation of Indian Chambers of Commerce and Industry และ Singapore Business Federation เป็นต้น นอกจากนี้ BIAC ยังมีกลุ่มย่อยภายในหรือ Policy Groups ที่ภาคเอกชนไทยสามารถเลือกดำเนินความร่วมมือเฉพาะเรื่องได้ เช่น ตลาดเกิดใหม่ ทักษะและการจ้างงาน และการจัดเก็บภาษี เป็นต้น

OECD ยังมีบทบาทสำคัญในการกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศ ซึ่งอยู่ในรูปแบบของตราสารทาง กฎหมาย (OECD legal instruments) ข้อแนะนำ และแนวปฏิบัติต่าง ๆ ที่ได้รับการยอมรับระดับสากล ซึ่งมาตรฐานเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนในด้านต่าง ๆ เช่น การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล การจัดการด้านภาษีที่เป็นธรรม และกรอบนโยบายด้านการลงทุน เป็นต้น ซึ่งหากไทยเข้าเป็นสมาชิก OECD แล้ว ภาคเอกชนก็ต้องปรับการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD ด้วยเช่นกัน โดยประโยชน์ที่ภาคเอกชนจะได้รับคือการมีมาตรฐานทางธุรกิจเทียบเท่าระดับสากล ส่งผลให้ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือสูง และยังช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยในเวทีโลกอีกด้วย

สำหรับสถานะการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทยในปัจจุบัน อยู่ระหว่างการรอคณะมนตรี OECD (OECD Council) พิจารณาว่าจะรับไทยเข้าสู่กระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD (accession process) หรือไม่ ซึ่งหากมีมติรับไทยเข้าสู่กระบวนการแล้ว ก็จะเป็นขั้นตอนที่ประเทศไทยต้องดำเนินการปรับกฎหมาย นโยบาย และแนวปฏิบัติให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD โดย สศช. คาดว่าอาจใช้เวลาประมาณ 5 ปี ซึ่งน้อยกว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ที่เข้าเป็นสมาชิก OECD ไปแล้ว เช่น โคลอมเบีย และคอสตาริกา ที่ใช้เวลาประมาณ 9 ปี เนื่องจากที่ผ่านมาไทยและ OECD มีความร่วมมือที่เข้มแข็งมายาวนาน และได้ปรับมาตรฐานเรื่องต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับ OECD แล้วระดับหนึ่ง ผ่านการดำเนินโครงการ OECD-Thailand Country Programme ระยะที่ 1 (ปี 2561 – 2564) และระยะที่ 2 (ปี 2566 – 2569)

รองเลขาธิการฯ ระบุว่า ตลอดกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือและแรงผลักดันจากภาคเอกชนในการขับเคลื่อนการเข้าเป็นสมาชิกให้สำเร็จลุล่วงไปได้ โดยมีประเด็นขอความร่วมมือจากภาคเอกชน 3 ประเด็น ได้แก่ (1) ศึกษาและปฏิบัติตามมาตรฐาน OECD ที่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชน เช่น การกำกับดูแลกิจการที่ดี (2) ร่วมมือกับภาครัฐเพื่อผลักดันไทยสู่การเป็นสมาชิก OECD เช่น เป็นผู้แทนในคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือคณะที่ปรึกษา และ (3) สร้างบทบาทของภาคเอกชนไทยในเวทีระหว่างประเทศผ่าน BIAC เนื่องจาก BIAC มีบทบาทสำคัญร่วมกับเครือข่ายภาคธุรกิจในกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศอื่น ๆ เช่น ASEAN-BAC และ B20-G20 ทั้งนี้ ภาคเอกชนสามารถติดต่อมายัง สศช. เพื่อประสานไปยังเจ้าหน้าที่ OECD เพื่อเริ่มดำเนินความร่วมมือกับ BIAC ได้ทันที

ในโอกาสนี้ ได้มีผู้แทนคณะกรรมการหอการค้าไทย ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของภาคเอกชนในการขับเคลื่อนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย โดยแนะนำให้ภาครัฐเร่งสื่อสารกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเข้าเป็นสมาชิก และประโยชน์ที่ภาคเอกชนจะได้รับ ตลอดจนต้องมีกระบวนการที่ชัดเจนเพื่อให้ภาคเอกชนสามารถดำเนินการร่วมกับภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สุดท้ายนี้ รองเลขาธิการฯ เน้นย้ำว่า ทุกภาคส่วนล้วนเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย และอยากให้ภาคเอกชนตระหนักว่าการเข้าเป็นสมาชิก OECD มิได้เป็นการเพิ่มภาระให้กับการดำเนินธุรกิจ แต่ OECD คือมาตรฐานที่จะช่วยยกระดับธุรกิจไทยให้เติบโตได้อย่างแข็งแรงและยั่งยืน

สามารถค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับ Business at OECD ได้ที่  https://www.businessatoecd.org/

สามารถติดตามความก้าวหน้าการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย ได้ที่ bit.ly/43SdmE0

bit.ly/43SdmE0