IMT-GT

แถลงข่าวผลการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 27 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) ผ่านระบบประชุมทางไกล

เมื่อวันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ในฐานะรัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT ของไทยเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 27 แผนงาน
การพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT)  ผ่านระบบประชุมทางไกล โดยมีดาโต๊ะ ซรี มุสตาปา โมฮาเหม็ด รัฐมนตรีประจำ
สำนักนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย เป็นประธานที่ประชุม พร้อมด้วย นายไอรลังกา ฮาตาร์โต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานกิจการเศรษฐกิจ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย นายอาเหม็ด เอ็ม ซาอีด รองประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย ดาโต๊ะ ลิม จ็อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะผู้แทนระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของฝ่ายไทย ร่วมด้วยเจ้าหน้าที่อาวุโส
และผู้แทนของมาเลเซียและอินโดนีเซีย มุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดจนผู้แทนภาครัฐและเอกชน ของประเทศสมาชิกแผนงาน IMT-GT เข้าร่วมการประชุม มีสาระสำคัญดังนี้

รัฐมนตรีแผนงาน IMT-GT ของ 3 ประเทศรับทราบรายงานผลการดำเนินงานและกิจกรรมตลอด
ช่วงปี 2563 – 2564 ที่แม้จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ยังสามารถปรับตัวและดำเนินกิจกรรมที่สำคัญให้สำเร็จลุล่วงไปได้ โดยมีโครงการสำคัญที่คืบหน้า อาทิ การจัดทำกรอบความร่วมมือด้านการศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และการกักกัน (CIQ) เพื่ออำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายสินค้าและคนข้ามพรมแดนในพื้นที่ฯ การจัดเตรียมการโครงการนำร่องเพื่อมุ่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของ
อนุภูมิภาค IMT-GT การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมืออุตสาหกรรมฮาลาล และการประชุมเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างโครงการเมืองยางและอุตสาหกรรมยางของ 3 ประเทศ รวมถึงการจัดทำแผนดำเนินงาน
ระยะห้าปี พ.ศ. 2565 – 2569 ที่จะใช้เป็นแผนดำเนินงานฉบับต่อไปภายใต้วิสัยทัศน์ พ.ศ. 2579 โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ เน้นการขับเคลื่อนโดยภาคเอกชน การเติบโตอย่างสมดุล และการจัดทำแนวทางการสร้างความร่วมมือกับหุ้นส่วนการพัฒนา

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อดำเนินการตามแผนปฏิบัติการของกรอบการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนของแผนงาน IMT-GT พ.ศ. 2565 – 2569 ซึ่งมุ่งเน้นให้เกิดการลงทุนในเรื่องการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การลดมลพิษจากภาคการขนส่ง และการใช้ประโยชน์ควบคู่กับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีมูลค่าการลงทุนรวม 5,370 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.79 แสนล้านบาท) ทั้งนี้ รัฐมนตรีแผนงาน IMT-GT ของไทยได้ให้ข้อคิดเห็นว่าประเด็นดังกล่าวมีความสำคัญต่อการพัฒนาในระดับอนุภูมิภาค อีกทั้งยังสอดรับกับทิศทางของไทยที่กำลังดำเนินนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) รวมถึงโครงการเมือง
สีเขียวในเทศบาลนครสงขลาและเทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ยังได้ใช้โอกาสนี้นำเสนอผลการดำเนินงานของรัฐบาล อาทิ
“โครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” และ “สมุย พลัส โมเดล” เพื่อเตรียมความพร้อมการเปิดประเทศรองรับนักท่องเที่ยวและสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมไปถึง “โครงการคนละครึ่ง” ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนและสนับสนุนผู้ประกอบการร้านค้าขนาดกลางและขนาดเล็กในช่วงที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคให้มากขึ้นเพื่อรองรับภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง โดยปัจจุบันประเทศไทยได้ดำเนินการพัฒนาท่าอากาศยานในพื้นที่ต่าง ๆ ของภาคใต้รองรับไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ท่าอากาศยานเบตง จังหวัดยะลา ท่าอากาศยานกระบี่ จังหวัดกระบี่ ท่าอากาศยานภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ท่าอากาศยาน
สมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี และท่าอากาศยานระนอง จังหวัดระนอง เป็นต้น  

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีของประเทศสมาชิกแผนงาน IMT-GT ยังได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ระหว่างอุทยานธรณีโลกลังกาวี (มาเลเซีย) อุทยาธรณีโลกสตูล (ไทย) และอุทยานธรณีโลกทะเลสาบโตบา (อินโดนีเซีย) ผ่านระบบประชุมทางไกล ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีในการปกป้องและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงภูมิศาสตร์ในท้องถิ่น ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ซึ่งจะนำไปกิจกรรมแลกเปลี่ยนการศึกษาดูงานและ
การจัดทำแผนการตลาดด้านการท่องเที่ยวร่วมกันของ 3 อุทยานธรณีดังกล่าว

นอกจากนี้ รัฐมนตรีแผนงาน IMT-GT ทั้ง 3 ประเทศ พร้อมด้วยผู้แทนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย
และเลขาธิการอาเซียนได้ร่วมกันให้การรับรองแถลงการณ์ร่วมผลการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 27 แผนงาน IMT-GT โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคเพื่อรับมือกับผลกระทบจาก
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการดำเนินงาน รวมทั้งสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลในทุกสาขาความร่วมมือ อำนวยความสะดวกในการพัฒนาธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกยุคใหม่ ส่งเสริมให้คณะทำงานต่าง ๆ แสวงหาแนวทางความร่วมมือข้ามสาขาอย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นในอนาคต และรับทราบ
ข้อริเริ่มจากภาคเอกชนในการเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแข็งขันกับคณะทำงานทุกสาขาของแผนงาน IMT-GT
เพื่อบรรลุเป้าหมายการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 ในปี 2565 รัฐบาลไทยจะรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 28
และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องภายใต้แผนงาน IMT-GT ทั้งนี้ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ
โรคโควิด-19 คลี่คลายลง การประชุมดังกล่าวจะมีขึ้น ณ จังหวัดภูเก็ต

สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเอกสารการประชุมใน QR Code นี้
หรือที่ลิงก์นี้ https://bit.ly/3yEm3kM
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
6 สิงหาคม 2564