เมื่อวันที่ 3 – 4 มีนาคม 2568 สาธารณรัฐเกาหลี ในฐานะเจ้าภาพเอเปคปี 2568 ได้จัดการประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจเอเปค (Economic Committee: EC) ครั้งที่ 1/2568 ในห้วงการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ 1 (First Senior Officials’ Meeting: SOM1) ณ เมืองคยองจู สาธารณรัฐเกาหลี โดยมีนายดนุชา พิชยนันท์เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจฯ และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
แนวคิดหลักของการประชุมเอเปคปี 2568 คือ “เสริมสร้างวันพรุ่งนี้ที่ยั่งยืน” (Building a Sustainable Tomorrow) ซึ่งมุ่งเน้นการดำเนินงานใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ ความเชื่อมโยง (Connect) การสร้างสรรค์ (Innovate) และความรุ่งเรือง (Prosper) โดยได้เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของ EC ในการสนับสนุนประเด็นดังกล่าวผ่านการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจในระบบและเศรษฐกิจยั่งยืนและเชื่อมโยงกันทั่วทั้งภูมิภาค
ในการนี้ เลขาธิการฯ ได้เน้นย้ำต่อที่ประชุมถึงการดำเนินงานของไทยในการสนับสนุนการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน พร้อมทั้งสามารถตอบสนองต่อความท้าทายที่เกิดขึ้นในระดับภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการปรับใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของไทยในการดึงดูดการลงทุนในนวัตกรรม เทคโนโลยี และปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมถึงการพัฒนากำลังคนในสาขาดังกล่าว เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมในอนาคต พร้อมกันนี้ เลขาธิการฯ ได้แสดงความมุ่งมั่นของไทยในการสนับสนุนการดำเนินงานต่างๆ ภายใต้ EC เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค
ที่ประชุมฯ ยังได้หารือเกี่ยวกับการยกระดับวาระการปฏิรูปโครงสร้างเอเปคที่เข้มแข็ง (Strengthened and Enhanced APEC Agenda for Structural Reform: SEAASR) เป็นการยกระดับวาระการปฏิรูปโครงสร้างฯ ฉบับใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำโดย Policy Support Unit (PSU) ในที่ประชุมฯ PSU ได้นำเสนอรายละเอียดของ 4 เสาหลัก ได้แก่ (1) ตลาดเปิด ที่โปร่งใส เชื่อมโยงถึงกัน และมีการแข่งขัน เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ยกระดับสวัสดิการผู้บริโภค และส่งเสริมนวัตกรรม (2) สภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มความยืดหยุ่นให้ภาคเอกชนในการประกอบธุรกิจ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค (3) นวัตกรรมและการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล เพื่อเร่งการพัฒนานวัตกรรม ดึงดูดการลงทุน และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันผ่านปฏิรูปโครงสร้าง อาทิ การปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน (4) ความครอบคลุมทางเศรษฐกิจ เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งและรายได้ รวมทั้งอุปสรรคเชิงโครงสร้างที่จำกัดโอกาสและความสามารถในการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของบางกลุ่ม อาทิ สตรี วิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมและรายย่อย ผู้สูงอายุ เยาวชน และผู้พิการ โดยเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ รวมทั้งไทยให้การสนับสนุนการพัฒนาทั้ง 4 เสาหลักภายใต้การยกระดับวาระการปฏิรูปโครงสร้างฯ ดังกล่าวเนื่องจากสอดคล้องกับแนวนโยบายและการดำเนินงานภายในเขตเศรษฐกิจ โดยไทยยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสีเขียว (Green transition) และการตื่นตัวของประชาคมเอเปคในเรื่องดังกล่าว ซึ่งควรได้รับความสำคัญและถูกบรรจุไว้ในวาระการปฏิรูปฉบับนี้ด้วย เนื่องจากการพัฒนาในทิศทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในระยะยาวและเป็นการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของภูมิภาค
ในส่วนของรายงานเขตเศรษฐกิจเอเปค ค.ศ. 2025 (2025 APEC Economic Policy Report: 2025 AEPR) เปรูในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปค ประจำปี 2567 ได้เสนอหัวข้อรายงานฯ เรื่อง การปฏิรูปโครงสร้างเพื่อยกระดับการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจในระบบ (Structural Reform to Increase Participation in the Formal Economy) โดยมุ่งเน้นที่บทบาทของรัฐบาลในการส่งเสริมเศรษฐกิจในระบบ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน ยืดหยุ่น และครอบคลุมในอนาคต รวมทั้งจะพิจารณาถึงประโยชน์ที่เศรษฐกิจจะได้รับจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในระบบ ผ่านการจัดทำนโยบายสำหรับการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจในระบบของกลุ่มคนด้อยโอกาสและกลุ่มคนเปราะบางในตลาดแรงงาน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมในการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจในระบบ
นอกจากนี้ คณะ สศช. ยังได้เข้าร่วมการเสวนาร่วมระหว่าง EC และกลุ่มการค้าบริการ (Group on Services: GOS) ประเด็นการค้าบริการและการปฏิรูปโครงสร้าง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับพัฒนาการใหม่ๆ ในด้านการค้าบริการ โดยเฉพาะในเรื่องของมาตรฐานทางเทคนิค การแข่งขันในตลาดบริการ และการไหลเวียนของข้อมูลระหว่างประเทศ ซึ่งล้วนมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งยังได้มีการหารือเกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนแผนงานเอเปคเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการค้าบริการ (APEC Services Competitiveness Roadmap: ASCR) ที่มุ่งเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันในด้านการค้าบริการของประเทศสมาชิกเอเปคเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดบริการทั่วโลก ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ และยกระดับมาตรฐานของการค้าบริการในภูมิภาคให้ยั่งยืนในระยะยาว
ทั้งนี้ สศช. มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 2/2568 และการประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปคด้านการปฏิรูปโครงสร้างในช่วงเดือนสิงหาคมและตุลาคม ณ สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อติดตามผลการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมถึงรายงานผลการดำเนินงานให้รัฐมนตรีเอเปคด้านการปฏิรูปโครงสร้างรับทราบและรับรอง SEAASR และแผนงานสำหรับการดำเนินงานของ EC ในระยะต่อไป
ข่าว : กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
ภาพ : APEC 2025 KOREA