GMS

การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 1/2568 แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) จัดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสครั้งที่ 1/2568 แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Grater Mekong Subregion: GMS) ณ โรงแรมอมารี กรุงเทพฯ โดยมีนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะเจ้าหน้าที่อาวุโสประจำแผนงาน GMS ของไทย เป็นประธานการประชุมฯ และนายอัลเฟรโด เปรดิกูเอโร ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือระดับภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ADB เป็นประธานฯ ร่วม รวมทั้ง มีเจ้าหน้าที่อาวุโสจาก 5 ประเทศลุ่มน้ำโขงเข้าร่วม ได้แก่ นายโชว เฮง รองเลขาธิการคณะกรรมการความร่วมมือเพื่อการพัฒนากัมพูชา สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา ราชอาณาจักรกัมพูชา นางสาวหลี่ หงน่า รองผู้อำนวยการกรมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ กระทรวงการคลัง สาธารณรัฐประชาชนจีน นางสาวสีสมบุญ อุนาวงศ์ อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการวางแผนและการลงทุน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ดร. มาลา มโย ญุน อธิบดีกรมกิจการเศรษฐกิจต่างประเทศ กระทรวงการลงทุนและกิจการเศรษฐกิจต่างประเทศ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา นางสาวเหงวียน ถิ บิ๊ก ถวี๋ รองอธิบดีกรมการทูตเศรษฐกิจ กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พร้อมด้วยผู้แทนจากสภาธุรกิจ GMS และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ในการนี้ เจ้าหน้าที่อาวุโส GMS ได้หารือเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 27 แผนงาน GMS ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้น ณ ประเทศไทย ในช่วงเดือนธันวาคม 2568 โดยมีประเด็นหลักในการสนับสนุนการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคเอกชนและรัฐบาลท้องถิ่น พร้อมทั้งได้พิจารณาการจัดกิจกรรมคู่ขนาน อาทิ การประชุมร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่น การประชุมหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา และการประชุมเวทีธุรกิจ GMS (GMS Business Forum) โดยที่ประชุมฯ ได้ให้ความเห็นชอบในหลักการต่อการจัดกิจกรรมคู่ขนานดังกล่าว พร้อมเสนอให้ ADB ในฐานะฝ่ายเลขานุการแผนงาน GMS และสภาธุรกิจ GMS ร่วมพัฒนาประเด็นวาระการประชุมฯ รวมถึงรูปแบบกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนเพื่อให้เจ้าหน้าที่อาวุโสฯ พิจารณาเนื้อหาและรูปแบบในรายละเอียดต่อไป

โดยเจ้าหน้าที่อาวุโส GMS ยังได้หารือในประเด็นด้านสารัตถะของการประชุมระดับรัฐมนตรีฯ ประกอบด้วยแนวทางการดำเนินงานด้านต่าง ๆ อาทิ ยุทธศาสตร์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2573 ซึ่งจะนำไปสู่การขับเคลื่อนความร่วมมือด้านความเชื่อมโยง การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และการเปลี่ยนผ่านสีเขียว โดยอยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าว แผนปฏิบัติการเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัล พ.ศ. 2568 – 2570 โดยเริ่มจากการขับเคลื่อนทางดิจิทัลในด้านการค้าและการลงทุน การท่องเที่ยว และการเกษตร ผ่านการจัดทำยุทธศาสตร์ การฝึกอบรมและพัฒนาทักษะ การพัฒนาโครงการนำร่อง และการจัดทำแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practices) ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศ พ.ศ. 2568 – 2573 ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อพัฒนาแนวทางในการรับประกันการมีส่วนร่วมที่เท่าเทียมกันและทบทวนการดำเนินงานของยุทธศาสตร์ฯ ในระยะกลาง พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบความคืบหน้าของการศึกษาและจัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ ซึ่งอาจพิจารณานำเสนอต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรีฯ ได้แก่ ยุทธศาสตร์เพื่อการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนบทบาทของสภาธุรกิจ GMS และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน การศึกษาเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อเร่งรัดการฟื้นฟูหลังยุคโควิด-19 กรณีศึกษาเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงยุทธศาสตร์ในการสนับสนุนเครือข่ายการผลิตข้ามพรมแดน และ แนวทางเชิงยุทธศาสตร์เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของรัฐบาลท้องถิ่นใน GMS เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกลไกการมีส่วนร่วมของรัฐบาลท้องถิ่น อาทิ การประชุมเวทีขับเคลื่อนการพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจ (Economic Corridor Forum: ECF) การประชุมระดับผู้ว่าราชการจังหวัด (Governor Forum: GF) และการฝึกอบรมทักษะเพิ่มเติมให้แก่รัฐบาลท้องถิ่น

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานรายสาขาของแผนงาน GMS ได้แก่ (1) ด้านการค้าและการลงทุน โดยมีการยกระดับจากการเป็นคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นเป็นคณะทำงานถาวร รวมทั้งพัฒนากรอบความร่วมมือ GMS ด้านการแปลงเป็นดิจิทัลของเอกสารการค้าและ การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาความสอดคล้องของมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (2) ด้านพลังงาน อยู่ระหว่างการจัดทำยุทธศาสตร์รายสาขาพลังงาน พ.ศ. 2567-2573 เพื่อพัฒนาความเชื่อมโยงด้านพลังงาน ประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน การอนุรักษ์พลังงาน และการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน (3) ด้านสุขภาพ มีการจัดทำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางสุขภาพ พ.ศ. 2567-2573 เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางสุขภาพในระดับภูมิภาคผ่านการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขเพื่อมุ่งสู่หลักประกันสุขภาพทั่วหน้า และ (4) ด้านคมนาคม มีการจัดทำยุทธศาสตร์สาขาคมนาคม พ.ศ. 2573 ซึ่งอยู่ระหว่างการทบทวนระยะกลางเพื่อพิจารณาความคืบหน้า ความท้าทาย รวมถึงประเด็นการพัฒนาในระดับภูมิภาคและระดับโลก ทั้งนี้ สำหรับการดำเนินงานในระยะถัดไป ประกอบด้วย การดำเนินโครงการของ ADB เพื่อพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่แผนงาน BIMP-EAGA IMT-GT และ GMS (B.I.G Training Programme) ในประเด็นที่ประเทศสมาชิกมีความสนใจร่วมกัน อาทิ การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ เศรษฐกิจสีน้ำเงิน และการลงทุนสีเขียว ในวันที่ 5-9 พฤษภาคม 2568 ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย การประชุมด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 3 ในเดือนพฤษภาคม 2568 ณ หลวงพระบาง สปป.ลาว การประชุมเวทีขับเคลื่อนการพัฒนาแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ ครั้งที่ 14 ในเดือนกันยายน 2568 ณ เมืองเสียมเรียบ กัมพูชา และการประชุมระดับรัฐมนตรี แผนงาน GMS ครั้งที่ 27 ในช่วงเดือนธันวาคม 2568 ซึ่งประเทศไทย โดย สศช. และกระทรวงมหาดไทยมีกำหนดเป็นเจ้าภาพร่วมกัน

*****************************************************************************************

กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ