เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 รัฐบาลไทยได้จัดกิจกรรมการเปิดตัวกระบวนการหารือเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ ตลอดจนเอกอัครราชทูตจากประเทศสมาชิก OECD เข้าร่วม
กิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความก้าวหน้าของไทยในกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD แก่สาธารณชนในวงกว้าง ผ่านการเยือนประเทศไทยของนายมาทีอัส คอร์มันน์ เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และคณะ ซึ่งในโอกาสนี้ OECD ได้มีการเผยสถานะของไทยในฐานะ Accession Candidate Country และมอบแผนการเข้าเป็นสมาชิกของไทย (Acession Roadmap) ฉบับทางการแก่ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นับเป็นก้าวสำคัญของไทยในกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับ OECD ที่มีความใกล้ชิดอย่างยาวนาน พร้อมแสดงความมุ่งมั่นที่จะยกระดับความร่วมมือกับ OECD และประเทศสมาชิก ตลอดจนสนับสนุนกระบวนการเข้าเป็นสมาชิกให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ในขณะที่ เลขาธิการ OECD ได้กล่าวชื่นชมความมุ่งมั่นของไทยและเน้นย้ำประโยชน์ของกระบวนการเข้าเป็นสมาชิกที่จะช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศรายได้สูงและมีความเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวหน้าได้ โดยในกระบวนการเข้าเป็นสมาชิกฯ นั้น ไทยจะได้รับประโยชน์จากการทำงานร่วมกับคณะกรรมการ OECD ผ่านการจัดทำข้อตกลงเบื้องต้น (Initial Memorandum: IM) และการประเมินทางเทคนิคเชิงลึก (Technical Review) ที่จะมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และมาตรฐานที่ดีในรูปแบบข้อแนะนำ แนวปฏิบัติ กฎหมาย และแนวนโยบายจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาเพื่อการปฏิรูปประเทศให้ทัดเทียมสากล
หลังกิจกรรมการเปิดตัวฯ เป็นการเสวนาของผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และ OECD ภายใต้หัวข้อ “Thailand’s OECD Accession as Transformative Process: What is being Transformed?” ซึ่งมี ดร.สาลินี ผลประไพ รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เป็นผู้ดำเนินรายการ
โดย ดร.วันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กล่าวถึงการเตรียมพร้อมของไทยสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วผ่านการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายรัฐบาล และแผนปฏิบัติการต่าง ๆ ซึ่งการเข้าเป็นสมาชิก OECD จะผลักดันให้ไทยไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้รวดเร็วและยั่งยืนขึ้น และขณะนี้ประเทศไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานแล้ว ซึ่งจะดำเนินการต่าง ๆ ให้เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม ในขณะที่ ดร.ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความท้าทายต่อภาคอุตสาหกรรมไทย อาทิ ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ผลิตภาพแรงงานที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำโดยเปรียบเทียบ การขาดแคลนเทคโนโลยีที่เหมาะสม และการมีตลาดที่แข่งขันสูง จึงต้องมีการปฏิรูปด้านกฎหมาย การพัฒนาคน เทคโนโลยี อุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน การเปิดตลาดและการลงทุนเสรีเพื่อสนับสนุน SMEs ซึ่งการดำเนินงานของ OECD จะช่วยให้การปฏิรูปประเทศไทยเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกันได้กับนานาประเทศ ทางด้าน นายอเล็กซานเดอร์ โบเมอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Global Relations and Cooperation, OECD ได้กล่าวถึงการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทยว่าเป็นโอกาสในการพลิกโฉมประเทศในหลายด้าน ทั้งระบบภาษี กฎหมาย การศึกษา ขีดความสามารถในการแข่งขัน การเปลี่ยนผ่านสีเขียว ธรรมาภิบาลและความคุ้มครองทางสังคม โดยผ่านกระบวนการทบทวน และการให้คำปรึกษาเชิงลึก ซึ่งจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยได้
ทั้งนี้ ผู้ร่วมเสวนาได้ยืนยันความพร้อมของภาครัฐ ภาคเอกชน และ OECD ในการร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้กระบวนการเข้าเป็นสมาชิกของไทยเป็นไปอย่างราบรื่นและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกภาคส่วน
สามารถติดตามความก้าวหน้าการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย ได้ที่ bit.ly/43SdmE0
TH2OECD