MJ-CI

การประชุมกรอบความร่วมมือประเทศลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมภายใต้ คณะทำงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก ครั้งที่ 29

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการความร่วมมือทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอาเซียนและญี่ปุ่น (AEM-METI Economic and Industrial Cooperation Committee: AMEICC) ได้จัดการประชุมกรอบความร่วมมือประเทศลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น ด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ภายใต้คณะทำงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก ครั้งที่ 29 (29th Meeting on Mekong-Japan Economic and Industrial Cooperation under WEC-WG) ณ เวียงจันทน์ สปป. ลาว เพื่อติดตามผลการดำเนินงานของกรอบความร่วมมือดังกล่าว โดยมีนายสำลี บุษดี (Mr. Samly Boutsady) อธิบดีกรมการอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป. ลาว เป็นประธานการประชุมร่วมกับ นายยาสุจิ โคมิยามะ (Mr. Yasuji Komiyama) รองอธิบดีสำนักนโยบายการค้าและความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Ministry of Economy, Trade and Industry: METI) มีผู้แทนจากกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ร่วมด้วยผู้แทนจากเมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม รวมทั้งผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) เข้าร่วมการประชุม

ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานของโครงการภายใต้วิสัยทัศน์การพัฒนาอุตสาหกรรมในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระยะที่ 2 (Mekong Industrial Development Vision 2.0: MIDV 2.0) ในช่วงปีที่ผ่านมา จำนวนทั้งสิ้น 21 โครงการ โดยพบว่าโครงการส่วนใหญ่มีการดำเนินการเป็นไปตามแผนการดำเนินงาน อาทิ โครงการการสนับสนุนการจัดทำแผนการเปลี่ยนผ่านพลังงาน โครงการนำร่องร่วมเพื่อการเปลี่ยนผ่านเชิงดิจิทัล โครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน และโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับโครงการที่จะเริ่มดำเนินการในปี 2567 ซึ่งจะมุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านเพื่อลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาค เช่น โครงการสร้างสรรค์ร่วมเพื่ออนาคตโลกใต้ โครงการเพื่อการเปลี่ยนผ่านและพัฒนาห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืนในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โครงการเพื่อสนับสนุนการสร้างระบบเกษตรและอาหารในอาเซียนที่ยั่งยืนและสามารถฟื้นตัวได้ และโครงการสร้างเสริมประสิทธิภาพระบบศุลกากรเพื่อยกระดับความเชื่อมโยงในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

วิสัยทัศน์ MIDV 2.0 เป็นแผนการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือประเทศลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น ด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม (Mekong-Japan Economic and Industrial Cooperation Initiative: MJ-CI) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาภายในภูมิภาค ประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ ความเชื่อมโยง (Connectivity) นวัตกรรมดิจิทัล (Digital Innovation) และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ทั้งนี้ ในปี 2566 ประเทศสมาชิกภายใต้ความร่วมมือ MJ-CI ได้มีมติให้ใช้วิสัยทัศน์ร่วมสร้างสรรค์ทางเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Economic Co-Creation Vision) ประกอบการดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ MIDV 2.0 ซึ่งจะทำให้เกิดการส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเอกชนมากขึ้น

กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
15 กรกฎาคม 2567