เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2566 นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกับ นาย Tetsushi Yoshikawa รองอธิบดีสำนักนโยบายการค้า กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Ministry of Economy, Trade and Industry: METI) ร่วมเป็นประธานการประชุมกรอบความร่วมมือประเทศลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น ด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ภายใต้คณะทำงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก ครั้งที่ 28 (28th Meeting on Mekong-Japan Economic and Industrial Cooperation under WEC-WG) พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการความร่วมมือทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอาเซียนและญี่ปุ่น (AEM-METI Economic and Industrial Cooperation Committee: AMEICC) สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute) และกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง ได้แก่ สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา และ เวียดนาม ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ
ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าและผลสำเร็จของโครงการภายใต้วิสัยทัศน์การพัฒนาอุตสาหกรรมในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงระยะที่ 2 ปี 2562 – 2566 (MIDV 2.0) ซึ่งมี 3 เสาหลัก ได้แก่ ความเชื่อมโยง (Connectivity) นวัตกรรมดิจิทัล (Digital Innovation) และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) รวมทั้งได้หารือถึงความท้าทายและแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และให้ความเห็นชอบต่อแนวทางดำเนินงานระยะต่อไป ซึ่งให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในระดับที่สูงขึ้น
ในการนี้ สศช. ได้นำเสนอความก้าวหน้าการดำเนินโครงการและแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาตามกรอบความร่วมมือประเทศลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น อาทิ การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ แผนแม่บท MR-MAP การพัฒนามอเตอร์เวย์คู่ขนานระบบราง การส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พร้อมทั้งเสนอการขยายขอบเขตความร่วมมือด้านการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีจากภาครัฐและเอกชนประเทศญี่ปุ่นสู่ประเทศลุ่มน้ำโขง
โดยในช่วงบ่าย รองเลขาธิการฯ ได้ร่วมเป็นประธานเปิดงานสัมมนาธุรกิจลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น (Mekong-Japan Business Seminar) ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง METI AMEICC JETRO และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มีผู้เข้าร่วมจากภาครัฐและเอกชน ทั้งภายในและต่างประเทศ รวมกว่า 200 คน โดยได้มีการเสวนาเกี่ยวกับภาพรวมของการลงทุนและความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของแต่ละประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่ง สศช. ได้นำเสนอประเด็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด-19 และประเด็นมุ่งเน้นตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ซึ่งมุ่งพลิกโฉมประเทศสู่เศรษฐกิจมูลค่าสูงอย่างยั่งยืน รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ EEC ซึ่งมีความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน การอำนวยความสะดวก และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ทั้งทางภาษีและที่มิใช่ภาษีอากร
จากนั้นได้มีการอภิปรายโดยผู้แทนภาครัฐและเอกชนจากกลุ่มประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงและญี่ปุ่น ใน 3 ประเด็นหลักภายใต้วิสัยทัศน์การพัฒนาอุตสาหกรรมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงระยะที่ 2 ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
1) ความเชื่อมโยงที่หลากหลาย ทั้งเชิงกายภาพ เชิงสังคม เชิงสถาบัน และเชิงดิจิทัล ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนา และมีความซับซ้อนยิ่งขึ้นในยุคปัจจุบัน ยังคงมีความท้าทายจากความไม่สอดคล้องกันของกฎระเบียบและการขาดความต่อเนื่องในการอำนวยความสะดวกสำหรับการค้าข้ามพรมแดน ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในหลายประเทศ จึงต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน
2) นวัตกรรมดิจิทัล การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในภาคธุรกิจ และการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล ซึ่งต้องอาศัยนโยบายสนับสนุนที่รอบด้านเพื่อให้เกิดระบบนิเวศน์ทางธุรกิจที่ส่งเสริมกิจการสตาร์ทอัพ ประกอบด้วย การพัฒนาทรัพยากรบุคคล การส่งเสริมการลงทุน และการพัฒนากฎระเบียบร่วมกันในภูมิภาค
3) การพัฒนาอย่างยั่งยืนและความคิดริเริ่มสีเขียว การสนับสนุนแนวคิด ESG และการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีแนวทางสำคัญในการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กับธุรกิจขนาดใหญ่ ทั้งในเชิงเงินทุนและเทคโนโลยี ประกอบกับการพัฒนาด้านสังคม และการกำกับดูแลอย่างมีธรรมาภิบาลควบคู่กันไป
ข่าว : กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ