OECD

รัฐบาลตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นสมาชิก OECD ภายในปี 2573 เพื่อยกระดับประเทศสู่ความเป็นสากลมากขึ้น

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานในการเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ของประเทศไทย ครั้งที่ 1/2568 เพื่อกำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนการเข้าเป็นสมาชิก OECD โดยมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ข้าราชการฝ่ายการเมือง และหน่วยงานประสานหลัก ประกอบด้วย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้าร่วมประชุม ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

คณะกรรมการกำกับฯ มีองค์ประกอบจำนวน 12 คน มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และมีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดนโยบาย เสนอแนะแนวทางการดำเนินงานในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย ตลอดจนสั่งการ และกำกับดูแลการดำเนินงานให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และแผนการดำเนินการเพื่อเข้าเป็นสมาชิก OECD (Accession Roadmap) ของประเทศไทย

การเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย ประกอบด้วย 2 กระบวนการหลัก ได้แก่ กระบวนการสมัครเข้าเป็นสมาชิก และกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก รวม 10 ขั้นตอน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยได้ดำเนินกระบวนการสมัครเพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการดำเนินกระบวนการเข้าเป็นสมาชิกในขั้นตอน การจัดทำ Initial Memorandum ซึ่งเป็นการเอกสารการประเมินตนเอง (self-assessment) เพื่อวิเคราะห์ความสอดคล้องระหว่างกฎหมาย นโยบาย และแนวปฏิบัติภายในประเทศ กับตราสารทางกฎหมายของ OECD ซึ่งการประชุมวันนี้เป็นการกำหนดแนวทางเพื่อให้การขับเคลื่อนการเข้าเป็นสมาชิก OECD สามารถเริ่มดำเนินการได้โดยเร็ว ชัดเจน และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ประชุมได้เห็นชอบการกำหนดแนวทางการขับเคลื่อน ดังนี้

1.  กำหนดเป้าหมายในการเป็นสมาชิก OECD อย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2573 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่มีการกำหนดให้ประเทศไทยบรรลุการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ

2.  กำหนดประเด็นการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิก OECD 3 เรื่อง ได้แก่

2.1  การดำเนินการในประเทศ โดยการกำหนดแนวทาง วางแผน และขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านนโยบายและแนวปฏิบัติให้สอดคล้องกับแผนการดำเนินการเพื่อเข้าเป็นสมาชิก OECD (Accession Roadmap) ของประเทศไทย

2.2  การดำเนินการระหว่างประเทศ โดยการกำหนดนโยบายและแนวทางในการยกระดับความร่วมมือกับ OECD ในทุกมิติ โดยเฉพาะในมิติต่างประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และมาตรฐาน OECD

2.3  การดำเนินการด้านกฎหมายและกฎระเบียบ โดยการกำหนดนโยบายและแนวทางในการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบภายในประเทศให้สอดคล้องกับตราสารทางกฎหมายของ OECD

3.  เห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการกำกับการดำเนินงานในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย จำนวน 3 คณะ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานภายในประเทศเพื่อเข้าเป็นสมาชิก OECD โดยมีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นประธาน คณะอนุกรรมการสร้างความสัมพันธ์กับ OECD โดยมีปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน และคณะอนุกรรมการปรับกฎหมายและกฎระเบียบตามมาตรฐาน OECD โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นประธาน

4.  มอบหมายหน่วยงานรัฐดำเนินการร่วมกับคณะกรรมการ OECD และมอบหมายทุกหน่วยงานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของหน่วยงานเพื่อสนับสนุนการเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย รวมทั้งพิจารณาปรับปรุงกฎหมาย นโยบาย และแนวปฏิบัติให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD และดำเนินกิจกรรมการสร้างปฏิสัมพันธ์กับประเทศสมาชิก OECD

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่ารัฐบาลพร้อมสนับสนุนการดำเนินการของทุกหน่วยงานเพื่อให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิก OECD ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นการยกระดับมาตรฐานและต่อยอดการพัฒนาประเทศให้มีความเป็นสากลมากขึ้น มีบทบาทนำในเวทีโลก และมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายหรือมาตรการระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเน้นย้ำการสื่อสารกับประชาชนเกี่ยวกับประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเข้าเป็นสมาชิก OECD เพื่อสร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ว่าเรื่องการต่างประเทศเป็นเรื่องใกล้ตัวและเชื่อมโยงกับประชาชนทุกคน

สามารถติดตามความก้าวหน้าการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย ได้ที่ bit.ly/43SdmE0

bit.ly/43SdmE0

TH2OECD