เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม 2568 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้จัดการประชุมเผยแพร่ผลการทบทวนการดำเนินงานระยะกลางของโครงการ OECD-Thailand Country Programme ระยะที่ 2 (The Mid-term Review of CP2) ณ โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ ราชประสงค์ โดยมีนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. Mr. Andreas Schaal, Director for OECD Global Relations and Co-operation, and the OECD Sherpa to the G7, the G20 and APEC กล่าวเปิดการประชุม นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการ สศช. นายณัฏฐา พาชัยยุทธ ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ สำนักงาน ก.พ.ร. นางสาลินี ผลประไพ รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐของไทย และ OECD Directorates ที่ดำเนินโครงการ CP ระยะที่ 2 ร่วมเสวนา
การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนผลการดำเนินงานและข้อเสนอแนะของ OECD ที่ไทยได้รับจากการดำเนินโครงการ CP ระยะที่ 2 โดยเฉพาะประเด็นที่มีผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมในการพัฒนามาตรฐานของไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือระหว่างไทยกับ OECD ในระยะถัดไป เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
ในโอกาสนี้ เลขาธิการ สศช. ได้เน้นย้ำประโยชน์ของการดำเนินโครงการ CP ระยะที่ 2 ที่ภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน สามารถนำรายงานการประเมินและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ OECD จัดทำให้กับไทย อาทิ การต่อต้านการติดสินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศ การกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่ดี และแผนการลงทุนในพลังงานสะอาด ไปปรับใช้เพื่อพัฒนาการดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรฐาน OECD นอกจากนี้ โครงการ CP ระยะที่ 2 ยังช่วยสนับสนุนให้ไทยเข้าเป็นภาคีตราสารทางกฎหมายของ OECD ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย
ในขณะที่ Mr. Andreas Schaal กล่าวย้ำว่า โครงการ CP ที่ไทยได้ดำเนินการมาถึง 2 ระยะ ถือเป็นผลลัพธ์เชิงประจักษ์ที่ทำให้ไทยสามารถเข้าสู่กระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ได้ในปี 2567 โดยโครงการ CP ช่วยสนับสนุนการปฏิรูปโครงสร้างของไทยในหลากหลายสาขา เป็นแนวทางให้ไทยนำไปใช้ในการปรับแก้กฎหมาย นโยบาย และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องให้มีมาตรฐานสากลมากขึ้น อันจะช่วยพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดียิ่งขึ้น
ภายหลังพิธีเปิด เป็นการนำเสนอภาพรวมการดำเนินโครงการ CP ระยะที่ 2 โดย Mr. Alexander Böhmer, Head of South and Southeast Asia Division, OECD Global Relations and Co-operation ต่อด้วยการเสวนาวาระที่ 1 เรื่องการทบทวนผลลัพธ์จากการดำเนินโครงการ CP ระยะที่ 2 เน้นการนำเสนอผลลัพธ์ของโครงการย่อยที่ดำเนินการแล้วเสร็จ อาทิ การยกระดับกฎหมายต่อต้านการติดสินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศ การปฏิรูประบบกำกับดูแลภาครัฐ การส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ การพัฒนาคุณภาพครูและข้อมูลสถิติด้านการศึกษา การส่งเสริมการแข่งขันทางธุรกิจ การวิเคราะห์ผลิตภาพ และการลงทุนในพลังงานสะอาด
การเสวนาวาระที่ 2 เรื่องการสะท้อนบทเรียนจากความร่วมมือระหว่างไทยกับ OECD และการก้าวต่อไปข้างหน้า เน้นการหารือแนวทางในการยกระดับความร่วมมือเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่กระบวนการเป็นสมาชิก OECD โดยทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับกิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรภาครัฐ (capacity-building) ที่จะช่วยสนับสนุนให้หน่วยงานไทยเข้าใจกระบวนการเข้าเป็นสมาชิกมากขึ้น ตลอดจนได้รับแนวปฏิบัติที่ดีในการดำเนินการปรับกฎหมาย นโยบาย และแนวปฏิบัติต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD นอกจากนี้ ในระหว่างกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก ไทยสามารถเข้าร่วมโครงการอื่น ๆ ของ OECD หรือดำเนินความร่วมมือกับ OECD ที่นอกเหนือจากกระบวนการเข้าเป็นสมาชิกได้ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของไทยใน OECD และการมีบทบาทนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ช่วงสุดท้ายของการประชุม เป็นการกล่าวปิดเพื่อสรุปภาพรวม โดยนายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการ สศช. และ Mr. Alexander Böhmer, Head of South and Southeast Asia Division, OECD Global Relations and Co-operation ได้กล่าวขอบคุณหน่วยงานไทยและ OECD ที่เข้าร่วมการดำเนินโครงการ CP ระยะที่ 2 และเน้นย้ำว่าโครงการ CP จะช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศก้าวหน้าและยั่งยืน และ CP ยังเป็นกลไกสำคัญในการเตรียมความพร้อมของประเทศสำหรับการเข้าสู่กระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD เพื่อนำไปสู่การบรรลุการเข้าเป็นสมาชิกอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2573 ตามเป้าหมายของรัฐบาลไทย
อนึ่ง โครงการ OECD-Thailand Country Programme ระยะที่ 2 มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (2566 – 2569) ประกอบด้วยโครงการย่อย 20 โครงการ ภายใต้ 4 สาขาความร่วมมือ ได้แก่ หลักธรรมาภิบาล สภาพแวดล้อมทางธุรกิจและขีดความสามารถในการแข่งขัน ความครอบคลุมทางสังคมและการพัฒนาทุนมนุษย์ และการฟื้นฟูสีเขียว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ไทยสามารถเข้าถึงองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีของ OECD สนับสนุนการขับเคลื่อนวาระการปฏิรูปประเทศของไทยในเชิงนโยบายหลากหลายสาขา และส่งเสริมการเข้าผูกพันตราสารทางกฎหมายต่าง ๆ ของ OECD ซึ่งจะช่วยพัฒนามาตรฐานภายในประเทศของไทยให้ทัดเทียมสากล และทำให้ไทยเข้าใกล้การเป็นสมาชิก OECD มากขึ้น โดย สศช. และ กต. เป็นหน่วยงานหลักในการ กำกับ ควบคุม ติดตาม และประสานงานการดำเนินโครงการในภาพรวม โดยปัจจุบันมีโครงการที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วจำนวน 8 โครงการ ดังนี้
สาขาที่ 1 หลักธรรมาภิบาล เสร็จสิ้นแล้ว 1 โครงการ คือโครงการ Reinforcing Anti-corruption Framework สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ มีผลลัพธ์คือรายงาน OECD Review of Thailand’s Legal and Policy Framework for Fighting Foreign Bribery เสนอแนวทางการเสริมสร้างกรอบกฎหมายและนโยบายในการต่อต้านการติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ เพื่อยกระดับความโปร่งใสภาครัฐของไทย เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567
สาขาที่ 2 สภาพแวดล้อมทางธุรกิจและขีดความสามารถในการแข่งขัน เสร็จสิ้นแล้ว 4 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการ Strengthening Regulatory Reform and the Implementation of Good Regulatory Practice สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ มีผลลัพธ์คือรายงาน Regulatory Reform in Thailand: Reinforcing an Effective Regulatory Environment เน้นการวิเคราะห์โครงสร้างและแนวทางการพัฒนาการจัดทำ การประเมิน และการบังคับใช้กฎระเบียบข้อบังคับของไทย เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 (2) โครงการ Maintaining a Sound Economic Policy through the Second Economic Survey สศช. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ มีผลลัพธ์คือรายงาน OECD Economic Surveys: Thailand 2023 มุ่งเน้นนโยบายการยกระดับผลิตภาพการผลิต และการพัฒนาสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ เผยแพร่เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 (3) โครงการ Deepening Collaboration to Promote Responsible Business Conduct (RBC) กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ มีผลลัพธ์คือระบบการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Learning) เรื่อง The Essentials of OECD Due Diligence for Responsible Business และ (4) โครงการ Supporting Reforms in the State-Owned Enterprises (SOEs) Sector สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ มีผลลัพธ์คือรายงาน OECD Review of the Corporate Governance of State-Owned Enterprises in Thailand เสนอแนวทางการพัฒนาให้รัฐวิสาหกิจมีความโปร่งใส ยั่งยืน และมีธรรมาภิบาลสูงขึ้น เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2568
สาขาที่ 3 ความครอบคลุมทางสังคมและการพัฒนาทุนมนุษย์ เสร็จสิ้นแล้ว 2 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการ Improving the Quality of Education Statistics สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาและสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ มีผลลัพธ์คือการจัดประชุมปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการเก็บรวบรวมและนำสถิติทางการศึกษาของไทยมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาแนวทางการจัดศึกษาของไทย เช่น ผลการทดสอบ PISA (2) โครงการ Developing Modern Teachers สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ มีผลลัพธ์คือการจัดกิจกรรมอบรมและประชุมเชิงปฏิบัติการ ครอบคลุมการออกแบบบทเรียน การใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล การสร้างสื่อการสอน และการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพครู เพื่อเตรียมความพร้อมครูไทยให้สามารถจัดการเรียนรู้ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
สาขาที่ 4 การฟื้นฟูสีเขียว เสร็จสิ้นแล้ว 1 โครงการ คือโครงการ Enabling Clean Energy Financing and Investment Mobilisation กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ มีผลลัพธ์คือ Clean Energy Finance and Investment Roadmap of Thailand โดย OECD แนะนำให้ไทยเปิดเสรีการลงทุนด้านพลังงานสะอาด โดยเฉพาะด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังหมุนเวียนขนาดเล็กและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคาร เผยแพร่เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2567
สามารถติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ CP ระยะที่ 2 ได้ที่ bit.ly/4esk7RY และติดตามความก้าวหน้าการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย ได้ที่ bit.ly/43SdmE0

bit.ly/4esk7RY
CP2 Updates
