OECD

เลขาธิการ สศช. พบหารือเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย ยืนยันความมุ่งมั่นของไทยในการเข้าเป็นสมาชิก OECD โดยออสเตรเลียพร้อมให้การสนับสนุน

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. พบหารือกับ ดร. แอนเจลา แมคโดนัลด์ (H.E. Dr. Angela Macdonald PSM) เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย เกี่ยวกับการสนับสนุนไทยในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ตลอดจนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแนวปฏิบัติที่ดีในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยมีคณะผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย ประจำประเทศไทย และเจ้าหน้าที่ สศช. เข้าร่วม

ในโอกาสนี้ เลขาธิการ สศช. กล่าวถึงความคืบหน้าในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย โดยเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2568 นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย ครั้งที่ 1/2568 ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบ (1) การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการฯ จำนวน 3 คณะ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานภายในประเทศ ระหว่างประเทศ และปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบ (2) การแต่งตั้งอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศเป็นผู้ประสานงานหลักในประเทศ และเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส เป็นผู้ประสานงานหลักประจำการ ณ กรุงปารีส และ (3) การพิจารณาส่งเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ในช่วงกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ซึ่งจะมีภารกิจหลักในการเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการ OECD ซึ่งเป็นหน้าที่ของไทยที่จะต้องเข้าร่วมตลอดกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD

ปัจจุบัน ไทยอยู่ระหว่างการจัดทำ Initial Memorandum (IM) ซึ่งเป็นเอกสารการประเมินความสอดคล้องของกฎหมาย นโยบาย และแนวปฏิบัติภายในประเทศ กับตราสารทางกฎหมายของ OECD (OECD legal instrument) เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้กับคณะกรรมการ OECD ในการประเมินการเข้าเป็นสมาชิกของไทยในขั้นตอนถัดไป โดยขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) อยู่ระหว่างการทดสอบระบบ Portal กับหน่วยงานนำร่อง ซึ่งระบบดังกล่าวเป็นการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการแปลตราสารทางกฎหมายของ OECD จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกและลดระยะเวลาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกรอกข้อมูลการประเมินความสอดคล้องฯ ได้ระดับหนึ่ง โดย สคก. คาดว่าจะเปิดระบบให้หน่วยงานเข้ามาใช้ได้ในเดือนเมษายน และไทยสามารถยื่น IM ให้กับ OECD ได้ภายในปี 2568

เอกอัครราชทูตฯ กล่าวชื่นชมการขับเคลื่อนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย พร้อมเน้นย้ำว่าการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ และแนวปฏิบัติภายในประเทศเป็นเรื่องท้าทายและอาจใช้เวลาในการดำเนินการ ซึ่งออสเตรเลียยินดีและพร้อมให้การสนับสนุนไทยในกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ทั้งนี้ การเข้าเป็นสมาชิกของไทย นอกจากจะเป็นการยกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ร่วมระหว่างออสเตรเลียกับประเทศในภูมิภาคดังกล่าวอีกด้วย

เอกอัครราชทูตฯ ยังได้นำเสนอโครงการฝึกอบรม Mekong-Australia Partnership Masterclass ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างทักษะ แบ่งปันความรู้ทางวิชาการ และเป็นการสร้างเครือข่ายให้กับบุคลากรภาครัฐและผู้เชี่ยวชาญของไทยที่ดำเนินการเรื่องการเข้าเป็นสมาชิก OECD โดยหัวข้อในการฝึกอบรม ประกอบด้วย ประโยชน์และผลกระทบจากการเข้าเป็นสมาชิก OECD การปฏิรูปกฎหมายการลงทุน การเติบโตที่ครอบคลุม   ธรรมาภิบาลภาครัฐ และยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ รัฐบาลออสเตรเลียได้มีหนังสือเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้ง สศช. เข้าร่วมโครงการดังกล่าวด้วยแล้ว

เลขาธิการ สศช. กล่าวย้ำว่าไทยยินดีรับการสนับสนุนจากออสเตรเลียและประเทศสมาชิก OECD ในการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการและการเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากร อันจะช่วยส่งเสริมให้ไทยสามารถเข้าเป็นสมาชิก OECD ได้เร็วมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะประเด็นที่ออสเตรเลียมีความเชี่ยวชาญเพื่อนำแนวปฏิบัติที่ดีมาปรับใช้กับประเทศไทย อาทิ การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับผลิตภาพทางการเกษตร การส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนา (R&D) การปฏิรูปกฎหมายการแข่งขันทางการค้า การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะวิสาหกิจชุมชนและธุรกิจขนาดย่อม ความมั่นคงทางอาหาร นวัตกรรมอาหาร และการปฏิรูปการศึกษา

สามารถติดตามความก้าวหน้าการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย ได้ที่ bit.ly/43SdmE0

bit.ly/43SdmE0

TH2OECD