ที่มาและหลักการ
สาขาความเชื่อมโยงด้านการขนส่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งในมิติการเชื่อมโยงทางกายภาพ เพื่อนำไปสู่การคมนาคมและการอำนวยความสะดวกในการคมนาคมขนส่งที่ไร้รอยต่อ ลดความเหลื่อมล้ำ มีความยั่งยืน ปลอดภัย และมีเครือข่ายโทรคมนาคมที่มั่นคงสามารถเชื่อมโยงกับระดับนานาชาติ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ เพื่อทำให้การเชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐานเชิงกายภาพสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มศักยภาพ
ประเด็นเชิงยุทธศาสตร์
ให้สัตยาบันกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามแดน
อำนวยความสะดวกในการขนส่งผู้โดยสารข้ามพรมแดน โดยยานพาหนะทางถนน
ปรับใช้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความเชื่อมโยงทางอากาศ ฉบับปรับปรุง ปี ค.ศ. 2018
ส่งเสริมความเชื่อมโยงทางทะเล
โดยเฉพาะเรื่อเฟอร์รี่บรรทุกรถยนต์และเรือสำราญ
เร่งรัดโครงการเชื่อมโยงทางกายภาพ (PCPs) ในหกระเบียงเศรษฐกิจ
ประเด็นความคืบหน้าล่าสุด
ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศสมาชิกอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนโครงการความเชื่อมโยงทางกายภาพ (Physical Connectivity Projects: PCPs) ให้มีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะโครงการลำดับความสำคัญสูงคือ สะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 (สุไหงโก-ลก-รันเตาปันยัง) และโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ หาดใหญ่–ปะดังเบซาร์ อย่างไรก็ตาม แผนงาน IMT-GT ได้เล็งเห็นถึงความท้าทายในการพัฒนาโครงการความเชื่อมโยงร่วมกันทั้ง 3 ประเทศ ในการพัฒนาโครงข่ายระบบคมนาคมให้เชื่อมต่อกันอย่างไร้รอยต่ออย่างมีคุณภาพและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม