2. ยุทธศาสตร์ความเท่าเทียมทางเพศ

ที่มาและหลักการ

ในช่วง 20 ปีแรกของแผนงาน GMS (พ.ศ. 2535-2555) ไม่ปรากฏโครงการที่มุ่งเน้นส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศโดยตรง แต่พบว่ามีโครงการบางส่วนภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ GMS ระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2545-2555) ที่สะท้อนถึงประเด็นดังกล่าว อาทิ การป้องกันการค้ามนุษย์ ส่งเสริมการโยกย้ายแรงงานอย่างปลอดภัย และสร้างโอกาสทางการจ้างงานสำหรับผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โครงการป้องกันการค้ามนุษย์และเด็ก และส่งเสริมการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างปลอดภัย” (Preventing the Trafficking of Women and Children and Promoting Safe Migration) และประเด็นการส่งเสริมการจ้างงานของผู้หญิงในวัตถุประสงค์ของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (NSEC) และ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (EWEC)

ประเด็นความเท่าเทียมทางเพศได้รับการระบุให้เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายของยุทธศาสตร์รายสาขาเป็นครั้งแรกในแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของ GMS พ.ศ. 2549–2558 (GMS Tourism Sector Strategy 2006-2015) และมีการกล่าวถึงในสาขาความร่วมมือด้านต่าง ๆ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ 10 ปี ฉบับที่สองของแผนงาน GMS พ.ศ. 2555–2565 ได้แก่ การท่องเที่ยว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สาธารณสุข เกษตรกรรม และสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี พบว่าส่วนใหญ่เป็นเพียงการกล่าวถึงการสนับสนุนการเข้าถึงโอกาสและสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้หญิงเท่านั้น มิใช่การให้ความสำคัญกับประเด็นความเท่าเทียมทางเพศโดยตรง

การให้ความสำคัญต่อความเท่าเทียมทางเพศภายใต้กรอบยุทธศาสตร์โครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2573 (GMS 2030) จึงถือเป็นก้าวกระโดดครั้งสำคัญของการเสริมสร้างความร่วมมือในภูมิภาคภายใต้หลักการความครอบคลุม (Inclusivity) เพื่อสร้างหลักประกันว่าประชากรที่มีรายได้น้อยรวมถึงผู้หญิง จะได้รับประโยชน์จากการดำเนินโครงการในอนาคตของแผนงาน GMS และเป็นการสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ซึ่งรวมถึง SDG 5 บรรลุความเท่าเทียมทางเพศ และเพิ่มบทบาทของสตรีและเด็กหญิงทุกคน และ SDG 10 ลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ

ประเด็นความคืบหน้าล่าสุด

ฝ่ายเลขานุการและที่ปรึกษาอยู่ระหวา่างจัดทำแผนการดำเนินงานยุทธศาสตร์ความเท่าเทียมทางเพศของ GMS พ.ศ. 2568-2573 (GSIP 2025-2030) ให้เกิดขึ้นเพื่อกำหนดแนวทางในการนำยุทธศาสตร์ความเท่าเทียมทางเพศของ GMS ซึ่งได้รับการรับรองโดยรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะผู้แทนจากรัฐบาลประเทศสมาชิก GMS ในการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 25 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565 สู่การปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จ โดยเป็นการดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาตามวิสัยทัศน์ของกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2573 (GMS 2030) โดยให้ความสำคัญกับประเด็นที่ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศโดยมีการระบุรายละเอียดกิจกรรม ตัวชี้วัดผลลัพธ์ และระบบ/กลไก

ดาวน์โหลดเอกสารต่าง ๆ

คณะทำงาน 10 สาขา

การดำเนินงานข้ามสาขา