4. ท่องเที่ยว

ที่มาและหลักการ

สาขาการท่องเที่ยวของ GMS มุ่งพัฒนาและประชาสัมพันธ์อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในฐานะจุดหมายปลายทางเดียวกัน โดยเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย มีคุณภาพและให้ผลตอบแทนสูงจากทั่วทั้งอนุภูมิภาค ซึ่งจะเป็นการช่วยกระจายประโยชน์จากการท่องเที่ยวให้ทั่วถึงมากขึ้นและลดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการท่องเที่ยวเมื่อผนวกกับการพัฒนาขีดความสามารถ การฝึกอบรมบุคลากร และการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน จะมีส่วนช่วยในการลดความยากจน การสร้างงานและการพัฒนาที่ยั่งยืน

ภายใต้ยุทธศาสตร์ GMS 2030 สาขาการท่องเที่ยวจะมุ่งเน้นการแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด–19 ซึ่งรวมถึงให้การสนับสนุนด้านการคลัง การเงิน และการฝึกอบรมสำหรับภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ทั้งนี้ เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของอนุภูมิภาคได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะสนับสนุนความพยายามในการฟื้นฟูโดยการพัฒนาการท่องเที่ยวมูลค่าสูงและการท่องเที่ยวเมืองรอง รวมถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของทุนมนุษย์ โครงสร้างพื้นฐานด้านการเชื่อมโยง การเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและเอกชน และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

ประเด็นความคืบหน้าล่าสุด

การประชุมคณะทำงานด้านการท่องเที่ยวอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 53 และการประชุม Mekong Tourism Forum 2024 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 – 24 เมษายน 2567 ณ เมืองลี่เจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อรายงานความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในประเด็นต่าง ๆ รวมถึงการอภิปรายและหารือแนวทางเพื่อสนับสนุนอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเดียวกัน (Single Tourist Destination)

การประชุมคณะทำงานด้านการท่องเที่ยวฯ ครั้งที่ 53 ทั้ง 6 ประเทศสมาชิก GMS ได้รายงานสถานการณ์ความคืบหน้าด้านการท่องเที่ยวของตนเอง โดยในภาพรวม การท่องเที่ยวของทุกประเทศกำลังเติบโต ทั้งการท่องเที่ยวในประเทศและการท่องเที่ยวนอกประเทศ และได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาและสนับสนุนการท่องเที่ยว ขณะที่ในส่วนของประเทศไทย ผู้แทนกรมการท่องเที่ยวได้รายงานสถิติการท่องเที่ยวของประเทศ และกล่าวถึงนโยบาย Ignite Tourism Thailand เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ประกอบด้วย 5 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ (1) ประสบการณ์ที่ดีในทุกย่างก้าว (2) 5 สิ่งที่ต้องทำในประเทศไทย (3) เมืองหลักและเมืองน่าเที่ยว (4) ศูนย์กลางแห่งอาเซียน และ (5) ศูนย์กลางแห่งอีเวนต์ระดับโลก

การประชุม Mekong Tourism Forum 2024 ได้มีการแสดงวิสัยทัศน์จากผู้นำระดับสูงของจีน โดยเน้นย้ำศักยภาพของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึงกระแสการท่องเที่ยวในปัจจุบันที่มุ่งเน้นการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน นอกจากนี้ ยังมีการอภิปรายเกี่ยวกับการสนับสนุนความร่วมมือและการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเน้นที่กลไกต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศและการบูรณาการในระดับภูมิภาค การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยใช้มาตรฐานระดับโลก พร้อมไปกับการคำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

สำหรับการประชุมคณะทำงานด้านการท่องเที่ยวฯ ครั้งที่ 54 มีกำหนดจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2567 ณ ประเทศไทย และการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 55 และการประชุม Mekong Tourism Forum 2025 มีกำหนดจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2568 ณ เมืองหลวงพระบาง สปป. ลาว

ดาวน์โหลดเอกสารต่าง ๆ

คณะทำงาน 10 สาขา

การดำเนินงานข้ามสาขา