4. การย้ายถิ่นของแรงงาน

ที่มาและหลักการ

อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ด้วยการบูรณาการทางเศรษฐกิจและสังคมที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งแสดงออกมาผ่านความตกลงการค้าเสรีและเขตการค้าเสรี แรงงานต่างด้าวจึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจภายในภูมิภาคนี้มากขึ้น จึงทำให้ต้องมีนโยบายและโครงการที่ประสานงานกันมากขึ้น เพื่อให้นโยบายการย้ายถิ่นมีส่วนในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ทั่วถึง ปกป้องผู้เปราะบาง และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับทรัพยากรของรัฐบาลและภาคเอกชนการเคลื่อนยแรงงานเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน

กรอบยุทธศาสตร์ GMS 2030 และผลการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงาน GMS ครั้งที่ 24 ได้ให้ความสำคัญกับการโยกย้ายถิ่นที่ปลอดภัยและเป็นระบบ ผ่านการสร้างกลไกความร่วมมือเพื่อหารือเชิงนโยบายด้านการโยกย้ายถิ่นและการรับมือกับสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อการอพยพระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ก่อให้เกิดการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งนำไปสู่ความท้าทายและอุปสรรคต่าง ๆ ต่อประเทศต้นทางและปลายทางอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นแผนงาน GMS จึงมีแผนที่จะจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงานขึ้น เพื่อส่งเสริมการผสานการดำเนินงานระหว่างประเทศสมาชิก GMS เข้ากับกรอบความร่วมมืออื่น ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้าน รวมถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีจากองค์กรระหว่างประเทศ

ประเด็นความคืบหน้าล่าสุด

แผนงาน GMS อยู่ระหว่างการผลักดันเพื่อการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงานในอนุภูมิภาคแผนงาน GMS และยังได้ร่วมกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) จัดการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงานในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงไปแล้ว 2 ครั้ง

การประชุมฯ ครั้งที่ 1 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ผ่านระบบประชุมทางไกล โดยเป็นเวทีหารือเชิงวิชาการที่มุ่งเน้นการรับมือผลกระทบในมิติทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นจากโรคโควิด-19 ซึ่งมีข้อสรุปแนวทางที่สำคัญคือ การมุ่งลดอุปสรรคในกระบวนการข้ามพรมแดนของแรงงานข้ามชาติ การพัฒนาระบบการคัดกรองด้านสุขภาพ การพัฒนาระบบสวัสดิการและนโยบายดูแลแรงงานที่ถูกผลักดันกลับประเทศในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ขณะที่การประชุมฯ ครั้งที่ 2 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 ณ จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยมีสาระสำคัญดังนี้ (1) การสร้างความร่วมมือกันดำเนินการให้ระบบการโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงานจากประเทศต้นทางมีความสะดวกรวดเร็ว มีค่าใช้จ่ายไม่สูงจนเกินไป และสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประโยชน์ของการเข้าสู่ระบบของทางการ ซึ่งแรงงานจะได้รับความคุ้มครองด้านสิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่าง ๆ ที่ดีและเป็นระบบกว่า นอกจากนี้ ภาครัฐควรพิจารณามาตรการรองรับการโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงานกึ่งฝีมือมากขึ้น (2) ประเทศปลายทางควรส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสีเขียวมากขึ้น อาทิ พลังงานหมุนเวียน การเกษตรกรรมยั่งยืน และยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อบรรเทาผลกระทบและปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสภาพภูมิอากาศ ไฟฟ้า ในขณะเดียวกันแรงงานข้ามชาตินี้ก็สามารถส่งเงินและถ่ายโอนความรู้กลับไปยังครอบครัวที่ประเทศต้นทางเพื่อเสริมต้นทุนสำหรับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้มากขึ้น   และ (3) การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนการส่งเงินกลับประเทศต้นทาง เนื่องด้วยแรงงานข้ามชาติมักประสบปัญหาการขาดความรู้ความเข้าใจหรือไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบ จึงควรส่งเสริมให้แรงงานข้ามชาติรู้จักใช้เทคโนโลยีทางการเงินให้แพร่หลายมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ลดต้นทุนการโอนเงินกลับไปยังประเทศต้นทาง และยังทำให้สามารถเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ มากขึ้น

ดาวน์โหลดเอกสารต่าง ๆ

คณะทำงาน 10 สาขา

การดำเนินงานข้ามสาขา